นักไวรัสวิทยายืนยันไวรัส HMPV ไม่สามารถ 'กลายพันธุ์แบบข้ามสายพันธุ์' กับโควิด-19 ได้
- เผยแพร่ วันที่ 22 มกราคม 2025 เวลา 09:51
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: Pasika KHERNAMNUOY, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"ด่วน .. ตอนนี้! อินเดีย ประกาศฉุกเฉิน ให้เฝ้าระวังคนจีนทุกคน หลังไวรัส HMPV ที่ผสมพันธุ์กับ covid-19 ระบาดหนัก หลายมณฑล รวมถึงฮ่องกงด้วย" ข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 ระบุ
โพสต์ดังกล่าวซึ่งถูกแชร์มากกว่า 30,000 ครั้ง ระบุเพิ่มด้วยว่าไวรัสที่กลายพันธุ์นี้ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบรุนแรงยิ่งขึ้น
คำกล่าวอ้างเท็จเดียวกันยังถูกแชร์ที่นี่ และนี่ โดยผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์บางส่วนดูเหมือนว่าจะเชื่อคำกล่าวอ้างเท็จนี้เป็นเรื่องจริง
"น่ากลัวมากกกกก ต้องดูแลตัวเองดีขั้นไหนถึงจะรอดในโลกใบนี้ที่อยู่ยากเนี่ยยยยย" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ
"หือออ...ถ้าระบาดในอินเดีย จีน ก็จบละ" อีกความคิดเห็นกล่าว
ไวรัส HMPV หรือฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (Human Metapneumovirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยไวรัสนี้ถูกค้นพบมาแล้วกว่าสองทศวรรษ และการแพร่ระบาดในอดีตทำให้ผู้คนทั่วโลกมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)
ในทางกลับกัน การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสซึ่งก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 ทำให้ผู้ติดเชื้อมีโอกาสแสดงอาการรุนแรงมากกว่าเนื่องจากเป็นไวรัสอุบัติใหม่
'ไม่สามารถกลายพันธุ์ร่วมกันได้'
นักไวรัสวิทยายืนยันกับ AFP ว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นเท็จ และการกลายพันธุ์หรือผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างไวรัส HMPV และโควิด-19 นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ในทางชีววิทยา
"HMPV และ SARS-CoV-2 เป็นไวรัสคนละชนิดและเกิดการพัฒนาแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง" จิน ดงย่าน ศาสตราจารย์สาขาไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568
"ไวรัสสองชนิดนี้มาจากคนละวงศ์และมีลักษณะทางชีววิทยาที่แตกต่างกัน” สิทธารถ ศรีธา นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดียวกันระบุ "พวกมันจึงไม่สามารถกลายพันธุ์ร่วมกันจนเกิดเป็นไวรัสชนิดใหม่ได้"
เขาอธิบายเพิ่มว่าผู้ติดเชื้อ HMPV ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยในระดับที่สามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน อย่างไรก็ตาม "คล้ายกับกรณีโควิด กลุ่มเปราะบางบางกลุ่มอย่างเช่นผู้สูงอายุอาจจะมีอาการติดเชื้อรุนแรงกว่า"
กมล สุวรรณการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันเช่นเดียวกันว่าว่าคำกล่าวอ้างบนโลกออนไลน์นั้นไม่เป็นความจริง
"หากเชื้อ HMPV มีการผสมข้ามสายพันธุ์กับโคโรนาไวรัส อาจทำให้เชื้อสูญเสียโปรตีนที่สำคัญของไวรัสเอง และทำให้ไวรัสไม่สามารถดำรงอยู่หรือเพิ่มจำนวนได้"
AFP ได้รายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างเท็จว่าประเทศจีนประกาศภาวะฉุกเฉินเนื่องจากการแพร่ระบาดของ HMPV
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 องค์การอนามัยโลกเผยแพร่รายงานที่ระบุว่า "ตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ รวมถึง HMPV ในระดับรุนแรงของจีนนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติสำหรับช่วงฤดูหนาวของปี โดยไม่พบลักษณะการระบาดที่ผิดปกติ" (ลิงก์บันทึก)
รายงานจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของจีนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 ระบุว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่, HMPV, ไวรัสอะดีโน และโรคติดเชื้อไมโคพลาสมา (ลิงก์บันทึก)
ณ วันที่ 22 มกราคม 2568 AFP ไม่พบรายงานทางการว่ามีการประกาศภาวะฉุกเฉินในประเทศอินเดียเนื่องจากการแพร่ระบาดของ HMPV แต่อย่างใด
เจพี นัดดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงเมื่อวันที่ 6 มกราคม ว่าทางการอินเดียกำลังเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของ HMPV ในจีนอย่างใกล้ชิด (ลิงก์บันทึก)
"ไม่มีเหตุให้ต้องกังวล" เนื่องจาก "ไวรัสชนิดนี้จะแพร่ระบาดสูงกว่าปกติในฤดูหนาวและช่วงเดือนแรก ๆ ของฤดูใบไม้ผลิ" เขากล่าว
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา