ภาพทีมงานเบื้องหลังสตาร์ตอัปจีน 'ดีปซีก' ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์

การเปิดตัวของดีปซีก (DeepSeek) แอปแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ของสตาร์ตอัปสัญชาติจีนได้สร้างความโกลาหลในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ และสั่นสะเทือนวงการเอไอทั่วโลก แต่รูปที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพทีมงานรุ่นใหม่ของบริษัทดังกล่าวเป็นรูปที่ถูกสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าในภาพเหล่านี้ปรากฏองค์ประกอบที่ผิดปกติซึ่งพบได้ในรูปที่สร้างจากเอไอ ไม่ว่าจะใบหน้าที่ผิดธรรมชาติ ข้อความไม่มีความหมาย และรูปโลโก้ของบริษัทที่ไม่ตรงกับของจริง 

"ทีมปัญญาประดิษฐ์ รุ่นใหม่ DeepSeek ของจีน รายชื่อสมาชิกทีม AI ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ" โพสต์ติ๊กตอกของบัญชีที่มีผู้ติดตามมากกว่า 21,000 คน แชร์รูปภาพของพนักงานกลุ่มหนึ่งที่สวมใส่เครื่องแบบเสื้อสีฟ้าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568

โพสต์ดังกล่าวไล่เรียงรายชื่อของทีมงานและมหาวิทยาลัยที่จบการศึกษาพร้อมระบุเพิ่มเติมว่า "ความสามารถอันเป็นอัจฉริยะของคนหนุ่มสาว รุ่นใหม่จากจีนทั้งสิ้น ไม่ได้จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปเลย"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 (FS)

แชตบอตโมเดลอาร์วันของดีปซีก (DeepSeek-R1) ทำให้บรรดานักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญภายในอุตสาหกรรมต้องตกตะลึงด้วยสมรรถนะที่เทียบเท่ากับเครื่องมือของคู่แข่งในประเทศฝั่งตะวันตกด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าครึ่ง แม้บางประเทศยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานของแชตบอตนี้และสั่งห้ามไม่ให้ใช้แชตบอตดังกล่าวในอุปกรณ์ของรัฐ (ลิงก์บันทึก)

ดีปซีกก่อตั้งในเดือนพฤษภาคม ปี 2566 โดยเหลียง เหวินเฟิง อัจฉริยะด้านเทคโนโลยีและธุรกิจวัย 40 ปี (ลิงก์บันทึก)

ในบทสัมภาษณ์กับสื่อเทคโนโลยีของจีนชื่อ 36kr ช่วงเดียวกับการเปิดตัวของบริษัท เหลียงกล่าวว่าตำแหน่งทางเทคนิคซึ่งเป็นหัวใจของบริษัท "เต็มไปด้วยนักศึกษาปีหนึ่งและผู้ที่เพิ่งจบการศึกษามาไม่เกินหนึ่งหรือสองปีก่อน" (ลิงก์บันทึก

รูปเอไอนี้ยังถูกนำไปแแชร์ในโพสต์เท็จภาษาจีน ส่วนโพสต์ภาษาอังกฤษบางส่วนแชร์รูปภาพหนุ่มสาวสวมใส่เครื่องแบบเสื้อโปโลสีน้ำเงินพร้อมข้อความที่ทำให้เข้าใจผิดในลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบภาพที่ผิดปกติที่ปรากฏในภาพทำให้สามารถระบุได้ว่ารูปทั้งสองนั้นสร้างจากเครื่องมือเอไอ 

'อัลกอริธึมสลับใบหน้า'

AFP ดำเนินการตรวจสอบรูปภาพทั้งสองด้วยเครื่องมือตรวจสอบ InVID-WeVerify จากโครงการของ veraai.eu ที่ AFP ร่วมเป็นพันธมิตร โดยผลการตรวจสอบพบว่าภาพทั้งสองถูกสร้างจากซอฟต์แวร์ผลิตภาพจากเอไอ

ผลการตรวจสอบพบว่ามีความเป็นไปได้ถึง 99 เปอร์เซนต์ที่ภาพแรกจะถูกสร้างด้วยอัลกอริธึมสลับใบหน้า และมีความเป็นไปได้ 100 เปอร์เซนต์ที่ภาพที่สองจะ "ถูกตัดต่อด้วยวิธีสลับใบหน้า"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของผลวิเคราะห์รูปภาพ

ฉู่ หู ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าวว่าในทั้งสองภาพพบองค์ประกอบที่ผิดปกติซึ่งทำให้ระบุได้ว่าเป็นภาพจากเอไอ อย่างเช่น ใบหูที่เบลอหายไปกับพื้นหลัง ซี่ฟันและลูกตาดำของแต่ละคนที่ขาดรายละเอียดหรือลักษณะจำเพาะ เป็นต้น (ลิงก์บันทึก

ซีเหวย หลิ่ว ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสืบค้นหลักฐานสื่อ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ชี้ว่าพบ "ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดของสีผิว" บนใบหน้า ลำคอที่ยาวผิดปกติ รวมถึงดวงตาและปากที่มีลักษณะเหมือนกันของบุคคลหลายคนในภาพ (ลิงก์บันทึก)

"ทุกคนในภาพมีรอยยิ้มลักษณะเดียวกันไปหมดจนผิดธรรมชาติ คล้ายกับลักษณะรอยยิ้มตามแบบที่เครื่องมือเอไอเรียนรู้ข้อมูลมา" หลิ่วกล่าวกับ AFP "ฟันของพวกเขาก็เรียงตัวในรูปแบบที่เกือบจะเหมือนกันทุกมุม ซึ่งเป็นลักษณะผิดปกติที่ไม่เหมือนกับภาพถ่ายจริง"

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปที่สร้างจากเอไอ โดย AFP ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

นอกจากนี้ ยังพบองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติอื่น ๆ เช่น ใบหูที่เบลอหายไปกับพื้นหลัง ข้อความที่ไม่มีความหมายบนเครื่องแบบพนักงาน รวมถึงปรากฏโลโก้ที่ไม่ตรงกับโลโก้รูปวาฬสีฟ้าอ่อนของบริษัท

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของรูปที่สร้างจากเอไอ โดย AFP ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่ผิดปกติ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา