ภาพการก่อสร้างสะพานปี 2566 ถูกนำกลับมาแชร์หลังเหตุคานทางด่วนถล่มบนถนนพระราม 2

หลังเกิดอุบัติเหตุคานสะพานทางด่วนถล่มบนถนนพระราม 2 ในเดือนมีนาคม 2568 ภาพเก่าของชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตที่แขวนอยู่เหนือถนนที่มีรถสัญจรถูกนำมาแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์หลายหมื่นครั้ง แม้อุบัติเหตุจากโครงการก่อสร้างบนถนนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในไทยเนื่องจากขาดการกำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยที่เข้มงวด แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันกับ AFP ว่าภาพดังกล่าวแสดงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ตั้งแต่ปี 2566

ภาพของชิ้นส่วนสะพานคอนกรีตที่แขวนอยู่เหนือทางด่วนถูกแชร์ในโพสต์อินสตาแกรมเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า "จากใจคนอยู่พระราม2" ขณะที่ข้อความภาษาไทยด้านล่างระบุว่า "วาสนาผู้ใดหนอ"

รูปดังกล่าวถูกแชร์หลังจากเกิดอุบัติเหตุคานสะพานทางด่วนถล่มบนถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นถนนเส้นหลักที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับภาคใต้ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 มีนาคม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

การก่อสร้างเพื่อขยายพื้นผิวการจราจรและบรรเทาปัญหารถติดบนถนนพระราม 2 ดำเนินการอย่างล่าช้าเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 50 ปี และทำให้เกิดการสูญเสียจากอุบัติเหตุหลายครั้ง (ลิงก์บันทึก)

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด บันทึกภาพเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568

ภาพเดียวกันถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม รวมทั้งบนเฟซบุ๊กและ X ซึ่งถูกแชร์ไปมากกว่า 25,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกถ่ายก่อนเกิดอุบัติเหตุคานสะพานถนนพระราม 2 ถล่มเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2568

การค้นหาด้วยคำสำคัญบนยูทูบพบวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 ซึ่งแสดงภาพการก่อสร้างสะพานยกระดับเหนือทางด่วนลักษณะเดียวกับรูปที่ถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ (ลิงก์บันทึก)

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูบ (ขวา) โดย AFP ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่เหมือนกัน

วิดีโอ "สะพานข้ามแยก ณ ระนอง | ความคืบหน้าล่าสุดเดือนมีนาคม" ถูกโพสต์บนช่องยูทูบที่มักเผยแพร่วิดีโอเกี่ยวกับโครงการการพัฒนาและเส้นทางสัญจรต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ อย่างสม่ำเสมอ

คำบรรยายวิดีโอระบุลิงก์แผนที่กูเกิลซึ่งแสดงพิกัดของโครงการก่อสร้างดังกล่าวในเขตคลองเตย ในขณะที่ภาพถ่ายสถานที่จริงบนแผนที่กูเกิลในเดือนพฤษภาคม 2567 เผยให้เห็นสะพานยกระดับที่สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายสถานที่จริงบนแผนที่กูเกิล (ขวา) โดย AFP ทำเครื่องหมายเน้นองค์ประกอบภาพที่เหมือนกัน

สำนักการโยธาภายใต้การกำกับดูแลของกรุงเทพมหานครกล่าวกับ AFP ว่าภาพดังกล่าวมาจากการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ในช่วงเดือนมีนาคม 2566

นอกจากนี้ สำนักการโยธายังระบุเพิ่มเติมว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวเริ่มต้นในปี 2561 แต่เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ก่อนจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 (ลิงก์บันทึก)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา