คลิปเก่าจากเหตุกราดยิงในเทลอาวีฟถูกแชร์ในโพสต์เท็จว่าเป็นเหตุการณ์หลังกลุ่มฮูตียิงขีปนาวุธใส่อิสราเอล

หลังอิสราเอลสกัดขีปนาวุธจากเยเมนที่พุ่งเป้าไปยังสนามบินเมืองเทลอาวีฟในเดือนมีนาคม 2568 ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพประชาชนวิ่งหนีหาที่หลบภัยจากการโจมตีของกลุ่มฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นวิดีโอเก่าจากปี 2565 จากเหตุกราดยิงในเทลอาวีฟ

"นักรบฮูทิ ผู้ผดุงความยุติธรรม แก้แค้นให้ชาวปาเลสไตน์" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 เขียนคำบรรยาย

คำบรรยายเดียวกันยังระบุต่อว่า "คลิปนี้คือประชาชนในเมืองเทลาวีฟของประเทศอิสราเอลพากันหนีตายหลังขีปนาวุธของนักรบฮูทิลง"

โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปวิดีโอความยาว 31 วินาทีที่แสดงภาพคนกลุ่มหนึ่งวิ่งหนีอย่างแตกตื่นบนถนนในเวลากลางคืน

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

วิดีโอเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในภาษาไทยที่นี่ และภาษาอื่น เช่น ภาษาอิตาลี  ฮินดี และ อาหรับ นอกจากนี้ ภาพถ่ายหน้าจอจากวิดีโอดังกล่าวยังปรากฏในรายงานข่าวภาษาอังกฤษด้วย

คำกล่าวอ้างนี้ปรากฏขึ้นหลังกลุ่มฮูตีในเยเมนอ้างว่าพวกเขาได้ยิง "ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง" ไปยังสนามบินเบน กูเรียนของอิสราเอลเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568

กองทัพอิสราเอลแถลงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ว่าสามารถสกัดขีปนาวุธที่ยิงมาจากเยเมนได้ก่อนเข้าสู่น่านฟ้าอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์สู้รบที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตหลายร้อยคน เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังอิสราเอลและฮามาสบรรลุข้อตกลงหยุดยิง (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

ความตึงเครียดยังลุกลามไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มฮูตีกับสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งให้กองทัพอากาศสหรัฐฯ โจมตีพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฮูตีในเยเมน ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 31 ราย (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์นั้นบันทึกเหตุการณ์ก่อนการโจมตีของกลุ่มฮูตีในอิสราเอลเกือบ 3 ปี

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมในวิดีโอ พบว่าวิดีโอดังกล่าวสอดคล้องกับวิดีโอที่ถูกเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 13ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 (ลิงก์บันทึก)

รายงานดังกล่าวระบุพาดหัวข่าวในภาษาฮีบรูว่า "เหตุโจมตีกลางเทลอาวีฟ มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ตำรวจล่ามือปืนตามบ้านเรือน"

AFP ยังพบว่าคลิปเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่โดย CBS News เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 (ลิงก์บันทึก)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และรายงานข่าวของ CBS News (ขวา)

ทางการอิสราเอลระบุว่า เหตุกราดยิงโดยมือปืนชาวปาเลสไตน์เกิดขึ้นที่ถนนดิเซนกอฟ ย่านสถานบันเทิงใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยบาร์และร้านอาหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 ราย และบาดเจ็บอีกหลายคน โดยมือปืนถูกวิสามัญฆาตกรรมระหว่างการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ AFP ได้เผยแพร่วิดีโอที่แสดงภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอิสราเอลกระจายกำลังทั่วกรุงเทลอาวีฟหลังเกิดเหตุกราดยิง

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ สามารถอ่านรายงานภาษาไทยได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา