โพสต์เท็จอ้างว่าพบผู้รอดชีวิตเพิ่มหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวนานกว่าสองสัปดาห์

ขณะที่เจ้าหน้าที่ยังค้นหาผู้สูญหายอีกหลายสิบรายจากเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในเมียนมา แต่ข่าวลือเท็จที่ใช้คลิปปฏิบัติการในคืนเกิดเหตุยังคงถูกนำมาแชร์บนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่าพบผู้รอดชีวิตเพิ่มเติมหลังเหตุอาคารสูงพังถล่มผ่านไปนานกว่าสองสัปดาห์

"ข่าวล่าสุด นาทีชีวิต พบผู้รอดชีวิต 1 ราย ในพื้นที่ สตง.ถล่ม โซน B ลึกลงไปประมาณ 3 เมตร ในเวลาช่วงค่ำที่ผ่านมา หลังจากผ่านมา 15 วัน ในวันนี้ วันที่ 11 เมษายน 2568" คำบรรยายภาษาไทยของโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 11 เมษายน ระบุ

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพของอาสาสมัครกู้ภัยที่ยืนชูแขนเรียงชิดติดกันในลักษณะคล้ายกำแพงมนุษย์ เพื่อกันทางให้เจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากซากอาคารถล่ม

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ทำให้อาคารความสูง 30 ชั้น ในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา โดยมีคนงานติดอยู่ในอาคารดังกล่าวมากกว่าร้อยคน ทางการไทยระบุว่าล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 24 เมษายน) พบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 60 ราย และมีผู้สูญหายที่อยู่ระหว่างการติดตามอีก 34 ราย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

ส่วนในประเทศเมียนมาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ภัยพิบัติครั้งนี้ได้คร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 3,700 ราย และทำลายอาคารบ้านเรือนรวมถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศอย่างรุนแรง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568

โพสต์ที่อ้างว่าพบผู้รอดชีวิตรายใหม่จากตึกถล่มเริ่มถูกแชร์อย่างกว้างขวางบนติ๊กตอก  เฟซบุ๊ก รวมถึงยูทูบ หลังเจ้าหน้าที่กู้ภัยพบสัญญาณไฟใต้ซากตึก โดยคาดว่าอาจเป็นแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือของผู้รอดชีวิต (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 17 เมษายน ว่าผู้รอดชีวิตทั้งเก้าคนได้รับการช่วยเหลือออกจากซากอาคารภายในคืนวันที่ 28 มีนาคม โดยไม่พบผู้รอดชีวิตหลังจากนั้นอีก

"ไม่มีรายงานการค้นพบผู้รอดชีวิตในวันที่ 11 เมษายน" ตัวแทนของกทม. ปฏิเสธคำกล่าวอ้างเท็จ

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเท็จต่าง ๆ ที่นำคลิปปฏิบัติการช่วยเหลือในคืนแรกมาบิดเบือนในบริบทต่าง ๆ

โดยวิดีโอในโพสต์เท็จต่าง ๆ ซึ่งมียอดรับชมรวมกันมากกว่าสามล้านครั้งเป็นภาพเหตุการณ์จากคืนวันที่ 28 มีนาคม 2568

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอประกอบกับการค้นหาด้วยคำสำคัญต่าง ๆ บนกูเกิล พบวิดีโอยูทูบของรายการข่าวช่อง 7 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งปรากฏองค์ประกอบภาพหลายแห่งที่สอดคล้องกับวิดีโอในโพสต์เท็จ (ลิงก์บันทึก)

Image
Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และรายงานข่าวช่อง 7 (ขวา) โดย AFP ทำสัญลักษณ์เน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน

นอกจากนี้ เสียงในวิดีโอที่สำนักข่าวไทย อสมท. เผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ก็ตรงกับในวิดีโอติ๊กตอกที่ถูกนำไปเผยแพร่แบบผิด ๆ (ลิงก์บันทึก

คำบรรยายวิดีโอระบุว่าผู้รอดชีวิตรายแรกได้รับการช่วยเหลือในช่วงค่ำของวันที่เกิดเหตุอาคารถล่ม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา