คลิปอาคาร 30 ชั้นถล่มถูกนำมาแชร์ในโพสต์เท็จหลังเกิดแผ่นดินไหวในเชียงใหม่

วิดีโอเก่าถูกนำมาแชร์ในโพสต์เท็จว่าเกิดเหตุตึกถล่มในจังหวัดเชียงใหม่ หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กทางภาคเหนือของประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 เมษายน เจ้าหน้าที่ยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีอาคารสูงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และวิดีโอนั้นมาจากเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่มเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 จากแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ในเมียนมา

ข้อความ "เชียงใหม่ตกถล่ม" และ "วันนี้ ที่ 21 เมษา 2568" ปรากฏบนวิดีโอรีลในโพสต์เฟซบุ๊กซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 324,000 ครั้ง

วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ขณะที่ผู้คนกำลังวิ่งหนีออกจากพื้นที่ขณะอาคารสูงถล่มจนเกิดฝุ่นคลุ้งทั่วบริเวณ

โดยวิดีโอนี้ถูกแชร์หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยรวมถึงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 เมษายน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือนหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.7 ในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในไทยด้วยเช่นกัน (ลิงก์บันทึก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568

คลิปเดียวกันนี้ยังถูกนำไปแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่างติ๊กตอกและยูทูบ รวมถึงในโพสต์เท็จภาษาพม่าและเขมรอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิเสธว่าโพสต์เหล่านี้เป็น "ข่าวปลอม" 

"ไม่มีรายงานเกี่ยวกับอาคารสูงถล่มในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นจากเหตุแผ่นดินไหววันที่ 28 มีนาคม หรือวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา" เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 23 เมษายน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า คนทั่วไปมักไม่สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาดเล็กเช่นเดียวกับที่พบในไทยเมื่อวันที่ 21 เมษายน และไม่มีความรุนแรงมากพอที่จะสร้างความเสียหายเชิงโครงสร้างได้ (ลิงก์บันทึก)

การค้นหาคำสำคัญต่าง ๆ พบวิดีโอคล้ายกันในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ขณะที่อาคารสูงซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในกรุงเทพฯ พังถล่มหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมียนมาและไทย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่

วิดีโอดังกล่าวปรากฏองค์ประกอบภาพต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับวิดีโอในโพสต์เท็จ รวมถึงมีการใช้แฮชแท็กระบุว่าวิดีโอนี้ถูกบันทึกจากบริเวณสวนจตุจักรในกรุงเทพฯ

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอติ๊กตอกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม (ขวา) โดย AFP ทำสัญลักษณ์เพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน

AFP สามารถระบุสถานที่ในคลิปได้ว่าเป็นภาพจากบริเวณห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตจตุจักร ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอาคารสตง. ที่พังถล่มจากแผ่นดินไหว (ลิงก์บันทึก

Image
การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพจากกูเกิลสตรีตวิวในกรุงเทพฯ (ขวา) โดย AFP ทำสัญลักษณ์เพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน

อ่านรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของ AFP เกี่ยวกับแผ่นดินไหวเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา