
วิดีโอเก่าถูกนำมาแชร์อย่างผิด ๆ ว่าเป็นภาพเหตุเรือล่มที่อ่าวฮาลองในเวียดนาม
- เผยแพร่ วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 เวลา 10:26
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Chayanit ITTHIPONGMAETEE, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
"เวียดนาม: เรือท่องเที่ยวล่มขณะเดินทางในอ่าวฮาลองเบย์ หลังเผชิญคลื่นลมแรง พายุวิภากะทันหัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 34 ศพ"โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568
คำบรรยายเดียวกันนี้ยังระบุต่อว่า "เจ้าหน้าที่เร่งค้นหาผู้สูญหายอีกนับสิบราย"
โพสต์ดังกล่าวแชร์วิดีโอที่แสดงให้เห็นเรือลำหนึ่งกำลังเผชิญกับลมฝนอย่างรุนแรง ก่อนจะเอียงไปทางขวาและค่อย ๆ จมลงทะเล
เหตุเรือล่มดังกล่าว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน ถูกนำเสนอว่าเป็นภัยพิบัติทางทะเลที่เลวร้ายที่สุดของอ่าวฮาลอง (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นได้อ้างการให้สัมภาษณ์ของผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์อากาศและอุทกศาสตร์แห่งชาติเวียดนาม ซึ่งระบุว่า พายุฝนฟ้าคะนองในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพายุโซนร้อนวิภาที่อยู่ในทะเลจีนใต้
ยังมีอีกหลายโพสต์ที่แชร์คลิปกันนี้พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียว เช่น โพสต์ X และโพสต์เฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์ภาษาอังกฤษและภาษาพม่าด้วย
อย่างไรก็ตาม จากการค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิลพบว่า คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่มาก่อนแล้วหลายเดือน และเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพายุอีกลูก
คลิปวิดีโอนี้เคยถูกเผยแพร่บนเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของสื่อเวียดนาม VTC News เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 โดยมีคำบรรยายว่า "เรือท่องเที่ยวล่มในอ่าวฮาลอง" (ลิงก์บันทึก)

สื่อเวียดนามแห่งอื่นก็ได้เผยแพร่คลิปเดียวกันนี้ในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 7 และ 8 กันยายน 2567 โดยระบุว่าเป็นเหตุการณ์ที่เีกี่ยวข้องกับ "พายุหมายเลข 3" ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นของพายุไต้ฝุ่นยางิ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
พายุลูกดังกล่าวคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 197 รายในเวียดนามจากปริมาณน้ำฝนรวมถึงเหตุน้ำท่วมและดินถล่มที่ตามมา ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพ และทำให้การส่งออกในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงต้องหยุดชะงักลง (ลิงก์บันทึก)
บล็อก Shipwreck Log ซึ่งบันทึกเหตุเรือล่มและอุบัติเหตุทางทะเลเขียนว่า ในเดือนกันยายน 2567 มีเรือหลายลำที่จมลงหรือได้รับความเสียหายจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิ นอกจากนี้บล็อกดังกล่าวได้เผยแพร่คลิปเรือล่มดังกล่าวในบทความด้วย (ลิงก์บันทึก)
เรือท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุในเดือนกรกฎาคม 2568 นั้นปรากฏอยู่ในภาพถ่ายของ AFP ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นเรือคนละลำ โดยเรือท่องเที่ยวที่ล่มนั้นมีตัวเรือเป็นสีฟ้าสลับขาว และมีราวกั้นที่มีลักษณะแตกต่างจากเรือในคลิปที่ถูกแชร์

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา