สื่อออนไลน์แชร์แถลงการณ์ปลอมของซีอีโอ Astronomer หลังเหตุคลิปไวรัลจากคอนเสิร์ต Coldplay

หลังคลิปคู่ชายหญิงก้มหลบกล้องบนจอยักษ์ที่คอนเสิร์ต Coldplay กลายเป็นกระแสไวรัลในเดือนกรกฎาคม 2568 สื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับหนึ่ง พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นคำขอโทษของชายในคลิป ซึ่งก็คือ แอนดี้ ไบรอน ซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยี Astronomer อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้ออกมาปฏิเสธว่าแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นของปลอม ขณะที่แถลงการณ์ดังกล่าวมีต้นทางมากจากบัญชีที่เผยแพร่เนื้อหาเสียดสี

แถลงการณ์ดังกล่าวที่ถูกแชร์อย่างแพร่หลายเขียนระบุว่า "ผมขอแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ พร้อมทั้งความผิดหวังที่เกิดขึ้น สิ่งที่ควรเป็นค่ำคืนแห่งดนตรีและความสุข กลับกลายเป็นความผิดพลาดส่วนตัวที่เกิดขึ้นต่อหน้าสาธารณะ"

ข้อความที่อ้างว่ามาจาก แอนดี้ ไบรอน เขียนขอโทษภรรยา ครอบครัว และทีมงานของบริษัท Astronomer พร้อมระบุว่า "สิ่งที่ควรเป็นช่วงเวลาในชีวิตส่วนตัว กลับถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผม"

พร้อมทิ้งท้ายด้วยเนื้อเพลงยอดฮิตของ Coldplay อย่าง "Fix You" อีกด้วย

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ โดย AFP ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดง

แถลงการณ์นี้ถูกแชร์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น X เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 โดยมีการแชร์ต่อในหลายภาษา รวมถึงสื่อไทยก็นำเสนอแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย

สื่อแท็บลอยด์ของอังกฤษอย่าง เดอะมิร์เรอร์ ก็นำเสนอรายงานเกี่ยวกับแถลงการณ์นี้ก่อนจะมีการแก้ไขในภายหลัง

คำกล่าวอ้างนี้เป็นผลมาจากเหตุการณ์ไวรัลเมื่อกล้องจับภาพชายหญิงคู่หนึ่งยืนกอดกันในคอนเสิร์ต Coldplay ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ก่อนที่ฝ่ายหญิงเอามือมาปิดหน้า ขณะที่ฝ่ายชายก็รีบก้มหลบกล้อง โดยนักร้องนำ คริส มาร์ติน พูดแซวว่า "คู่นี้น่าจะแอบคบกัน หรือไม่ก็ขี้อายมาก ๆ"

คลิปดังกล่าวกลายเป็นกระแสไวรัลจนมียอดรับชมทางติ๊กตอกกว่า 58 ล้านครั้ง จนคู่ชายหญิงในคลิปถูกระบุตัวเป็นแอนดี้ ไบรอน และ คริสติน คาบอท ผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารบุคลากร (Chief People Officer) ของบริษัท Astronomer (ลิงก์บันทึก)

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ขอโทษที่ถูกแชร์นั้นไมใช่ของจริง มาร์ค วีลเลอร์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดของ Astronomer ระบุกับ AFP

"แถลงการณ์ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยบัญชีที่จงใจกลั่นแกล้ง และเป็นแถลงการณ์ปลอมอย่างแน่นอน" วีลเลอร์ระบุในอีเมลเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 

ไร วอล์กเกอร์ อดีตซีอีโอของบริษัทก็แชร์ความคิดเห็นบนบัญชี X ของเขาเช่นกันว่าข้อความไวรัลนั้น "ปลอมสุด ๆ" (ลิงก์บันทึก)

AFP ไม่พบว่าไบรอนได้เผยแพร่แถลงการณ์ลักษณะนี้ และบัญชี LinkedIn ของเขาก็ถูกลบไปแล้ว

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 ทางบริษัท Astronomer ได้เผยแพร่แถลงการณ์ที่ระบุว่า ทางบริษัทได้เริ่มการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ และจะมีการแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมให้ทราบเร็ว ๆ นี้ (ลิงก์บันทึก)

"แอนดี้ ไบรอนไม่ได้ออกแถลงการณ์ใด ๆ และรายงานใดที่ระบุว่าเป็นอย่างอื่นนั้นเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้อง" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ 

ต้นตอที่น่าสงสัย

บัญชีที่วีลเลอร์ระบุว่าเป็นต้นทางของเอกสารดังกล่าวคือ "@PeterEnisCBS" โดยเผยแพร่ภาพแถลงการณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ก่อนจะถูกระงับเนื่องจากละเมิดกฎของ X

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X โดย AFP ทำเครื่องหมายกากบาทสีแดง

"ปีเตอร์ เอนิส" อ้างว่าตนเป็นผู้สื่อข่าวของ CBS News แต่ AFP ไม่พบว่ามีชื่อผู้สื่อข่าวดังกล่าวบนเว็บไซต์ของ CBS และจากภาพถ่ายหน้าจอของบัญชี พบว่าบัญชีดังกล่าวเคยระบุตัวตนว่าเป็น "บัญชีล้อเลียน" (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้ติดต่อ CBS News เพื่อสอบถามว่า สำนักข่าวดังกล่าวเคยมีพนักงานชื่อ ปีเตอร์ เอนิส หรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

นอกจากนี้ บัญชีดังกล่าวยังเคยอ้างว่าเคยทำงานกับสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์และ NPR ขณะที่ภาพโปรไฟล์นั้นแสดงภาพชายติดเข็มกลัดคล้ายโลโก้ NBC News แต่หลักฐานยืนยันบนเว็บไซต์ของสื่อทั้งสามแห่ง

เครื่องมือตรวจจับภาพจากปลั๊กอิน InVID-WeVerify ของ veraAI พบว่า "มีหลักฐานระดับปานกลาง" ว่าภาพโปรไฟล์นี้อาจเป็นภาพที่สร้างขึ้นโดย AI ส่วนเว็บไซต์ Hive Moderation ก็ประเมินว่าภาพโปรไฟล์ดังกล่าว "น่าจะเป็นภาพที่สร้างด้วย AI หรือดีปเฟค"

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา