แบบจำลองถ้วยอนามัย หรือถ้วยประจำเดือน (Menstrual Cup) และผ้าอนามัยแบบสอด ถูกนำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่างให้กับสื่อมวลชน ในงานแถลงข่าวของพิพิธภัณฑ์ช่องคลอดในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ( AFP / ISABEL INFANTES)

ประเทศไทยไม่ได้ปรับอัตราภาษีผ้าอนามัยแบบสอดเป็น 30%

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 3 สิงหาคม 2021 เวลา 05:28
  • อัพเดตแล้ว วัน 3 สิงหาคม 2021 เวลา 05:45
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างหนึ่งถูกแชร์ทางสื่อสังคมออนไลน์หลายหมื่นครั้ง โดยระบุว่าประเทศไทยเพิ่มภาษีผ้าอนามัยแบบสอดขึ้นเป็น 30% หลังจากถูกจัดให้เป็นสินค้าหมวดเครื่องสำอาง คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ถึงแม้ว่าผ้าอนามัยแบบสอดถูกปรับหมวดสินค้า แต่รัฐบาลไทยอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปเพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 300 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “สรุป : ผ้าอนามัยชนิดสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง นั้นหมายความว่า : เมื่อผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง จากเดิมที่เสียภาษี 7% จะต้องเสียภาษีเพิ่มเป็น 30%”

“จากเดิมที่ราคาแพงอยู่แล้วอาจจะแพงขึ้นไปอีกครับ”

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายหน้าจอประกาศของราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2564 ที่เผยแพร่การกำหนดประเภทสินค้าผ้าอนามัยแบบสอดให้เป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอางซึ่งอนุมัติโดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

  

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางทวิตเตอร์ที่นี่ นี่และนี่ และทางเฟซบุ๊กที่นี่ โพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวถูกแชร์ต่อมากกว่า 67,000 ครั้ง ก่อนที่เจ้าของโพสต์จะอธิบายว่าตนเข้าใจเนื้อข่าวผิด

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ก่อนหน้านี้ ผ้าอนามัยประเภทสอดไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง โดยคำนิยามของสินค้าประเภทนี้ครอบคลุมถึงวัตถุที่ใช้ “ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือการกระทำด้วยวิธีอื่นใดกับส่วนภายนอกร่างกาย”

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้นิยามผ้าอนามัยแบบสอดใส่เป็นสินค้าประเภท “เครื่องสำอาง” เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงจะช่วยกำกับดูแล “มาตรฐานความปลอดภัย ควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ รวมทั้งมีการแสดงคำเตือนที่ฉลาก”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอางจะถูกจัดเป็นหมวดสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมีเพดานภาษีที่ 30% แต่ผ้าอนามัยชนิดสอดใส่มีสถานะเป็นสินค้าควบคุม ซึ่งมีอัตราภาษีที่ 7%

“ไม่ขึ้นภาษี”

โฆษกรัฐบาลยืนยันว่าผ้าอนามัยประเภทสอดใส่จะ “ไม่ขึ้นภาษี”

ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เขียนในโพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ว่า “ยืนยัน ผ้าอนามัย เป็นสินค้าควบคุม ไม่ขึ้นภาษี”

“ผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ถึง 30% ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ”

โฆษกของกรมสรรพสามิตกล่าวว่าการเปลี่ยนประเภทสินค้าของผ้าอนามัยแบบสอดเป็นไปตามการริเริ่มของกระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้มีการเปลี่ยนอัตราภาษีของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

คำกล่าวอ้างดังกล่าว “ไม่จริง” ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต อธิบายกับสำนักข่าว AFP “ผ้าอนามัยแบบสอดเข้าข่ายเครื่องสำอางตามกระทรวงสาธารณสุข”

“(คำกล่าวอ้างนี้) น่าจะมาจากการที่เครื่องสำอางมีเพดานภาษีอยู่ที่ 30%” ณัฐกรกล่าว

สำนักข่าว AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับการเก็บภาษีผ้าอนามัยแบบสอดใส่ในประเทศไทยที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา