ผู้ประท้วงโบกธงชาติไทยระหว่างการประท้วงเรียกร้องให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากการบริหารจัดการวิกฤติโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

คลิปวิดีโอเก่าถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 17 สิงหาคม 2021 เวลา 05:23
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่มีจัดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย คลิปวิดีโอหนึ่งซึ่งมียอดรับชมกว่าสองแสนครั้ง ได้ถูกแชร์ในเฟซบุ๊กพร้อมคำกล่าวอ้างว่าวิดีโอดังกล่าวแสดงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทุบรถของผู้ประท้วง คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด คลิปวิดีโอดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2556 ในรายงานข่าวเกี่ยวกับการประท้วงต่อต้านการออกกฏหมายนิรโทษกรรม

คลิปวิดีโอความยาว 4 นาที 37 วินาที ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564

คลิปวิดีโอดังกล่าวมียอดรับชมแล้วมากกว่า 240,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “เห้ย**ไปทุบรถเขาทำไม”

คลิปวิดีโอดังกล่าว ซึ่งถูกแชร์โดยระบุว่าเป็นวิดีโอที่ถูกถ่ายทอดสด แสดงเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งทุบกระจกหน้ารถด้วยกระบอง

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว มีเสียงคนพูดว่า “มีผู้หญิงนะ” “ไม่ๆๆๆ พี่”

ในเดือนสิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ในการสลายการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ สำนักข่าว AFP รายงาน 

คลิปวิดีโอเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และทางทวิตเตอร์ที่นี่ พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน

อย่างไรก็ตาม คลิปวิดีโอนี้ ถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบคลิปวิดีโอที่มีความยาวกว่า ถูกเผยแพร่ทางยูทูปที่นี่ ในเดือนธันวาคม 2556

ด้านมุมขวาบนของคลิปวิดีโอ จะสามารถสังเกตเห็นสัญลักษณ์ของช่อง Blue Sky ช่องทีวีดาวเทียมของไทย

วิดีโอดังกล่าวมีชื่อว่า “ 261256 คลิปถ่ายจากในรถที่ตำรวจรุมทุบตรงสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินเเดง” 

ในช่วงนาทีที่ 2:40 ผู้ชายที่อ้างว่าตนอยู่ในรถคันดังกล่าวตอนเกิดเหตุพูดว่า “ผมเป็นทีมพยาบาลครับ ผมจะจอดอยู่เฉยๆ ผมจะไม่ออกจากรถ อย่าทำครับ แล้วเขาก็จะไล่ลงจากรถ”

คลิปวิดีโอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ตรงกับคลิปวิดีโอยูทูป ตั้งแต่ช่วงวินาทีที่ 56 เป็นต้นไป

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูป (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของคลิปจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และวิดีโอยูทูป (ขวา)

 

การประท้วงเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2556 ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยซึ่งในขณะนั้นนำโดยรัฐบาลของนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน 

พ.ร.บ. นิรโทษกรรมดังกล่าวทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเปิดทางให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับประเทศไทยได้ สำนักข่าว AFP รายงาน

การค้นหาด้วยคำสำคัญพบคลิปวิดีโอเดียวกันถูกโพสต์ลงยูทูปที่นี่ โดยช่องยูทูปของ Manager Online เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 โดยวิดีโอดังกล่าวมีชื่อว่า “2014/01/03 ผบ.ตร.เเถลงตำรวจไม่ได้ทุบรถ เเค่ ดูเหมือนทุบรถ”

เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า “ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยเห็นว่ามีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งได้หลบหนีเข้าไปในรถดังกล่าว จึงได้เข้าไปเพื่อทำการจับกุม จึงดูเหมือนกิริยาที่เข้าไปทุบรถ” 

คลิปวิดีโอเดียวกัน ปรากฏอยู่ในรายงานต่างๆ ของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ในประเทศไทยในเดือน ธันวาคม 2556 เช่นที่นี่ นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา