บุคลากรทางการแพทย์ในชุดป้องกัน PPE กำลังจัดระเบียบผู้ที่จะมาตรวจเชื้อโควิด-19 ที่วัดพระศรีมหาธาตุ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2564 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับฉลาก VFE บนกล่องหน้ากากอนามัย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 12 สิงหาคม 2021 เวลา 12:36
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าหน้ากากอนามัยที่ไม่มีฉลากรับรองประสิทธิภาพในการกรองไวรัส (VFE) จะไม่สามารถใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ได้ถูกแชร์ออกไปในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าหน้ากากอนามัยที่ไม่มีฉลาก VFE ก็มีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ ถ้าใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี

คำกล่าวอ้างหนึ่งถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2564 และได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 3,000 ครั้งก่อนถูกลบ

คำบรรยายบางส่วนเขียนว่า “ควานรู้ใหม่!! หน้ากากไม่มี VFE!! ป้องกันไวรัสไม่ได้!! ไม่น่าทำไม บางคนป้องกันตัวเองใส่แมสตลอดยังติด เวลาซื้อแมสใส่ ให้สังเกตข้างกล่อง”

“ไม่น่าทำไม บางคนป้องกันตัวเองใส่แมสตลอดยังติด เวลาซื้อแมสใส่ ให้สังเกตข้างกล่อง”

โพสต์ดังกล่าว ซึ่งแชร์ภาพถ่ายกล่องหน้ากากหลายชนิด กล่าวอ้างว่าหน้ากากที่มีฉลาก “VFE 99” เท่านั้น ที่จะสามารถ “ป้องกันไวรัสได้”

“VFE” เป็นตัวย่อของ Virus Filtration Efficiency ซึ่งเป็นการคำนวนค่าประสิทธิภาพการกรองไวรัสของหน้ากาก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

หน้ากากสามารถกรองอนุภาคได้

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า “คำกล่าวอ้างว่าหน้ากากต้องมี VFE 99 นั้นไม่จำเป็น”

“หน้ากากที่ได้รับการอนุมัติโดยอย. ซึ่งรวมไปถึงหน้ากากทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย ชั้นสามชั้นที่ทำหน้าที่ในการกรองอนุภาคและกันซึมได้” นพ.สุรโชค กล่าว

“หน้ากากเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อการใช้งานทางการแพทย์สำหรับการกรองเชื้อ แม้ว่าจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อกรองไวรัสโดยเฉพาะ แต่สามารถกรองละอองและกรอง particle และไวรัสที่ปนกับละอองได้”

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่เอกสารฉบับนี้ ในเดือนกรกฏาคม 2563 ซึ่งระบุว่า “เชื้อไวรัสโควิด-19 มีลักษณะเป็นอนุภาคทรงกลมมีขนาด 0.06-0.14 ไมครอนสามารถรอดผ่านรูของแผ่นกรองของหน้ากากอนามัยได้ แต่โดยปกติแล้วเชื้อไวรัสขนาดเล็กนี้จะอยู่ภายในละอองฝอยของสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีขนาดประมาณ 3.5-10.0 ไมครอน ดังนั้นจึงสามารถถูกกรองโดยหน้ากาก Surgical mask ได้ ดังนั้นการให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัย Surgical mask เมื่อไอหรือจามละอองฝอยเหล่านี้จะไม่แพร่กระจายออกมา เป็นการช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่น”

สำคัญที่การใส่ให้ถูกวิธี

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายกับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ว่าหน้ากากทางการแพทย์และหน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อใส่อย่างถูกวิธี

“ที่จริงแล้ว สิ่งที่ถูกมองข้ามส่วนใหญ่คือเรื่องการใช้งานอย่างถูกวิธี” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว  “เราต้องใส่หน้ากากให้ถูกต้องด้วย”

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่วิดีโอที่อธิบายถึงความสำคัญของการเลือกหน้ากากให้พอดีกับใบหน้าของผู้ใส่

“ไม่ว่าหน้ากากของคุณจะมีประสิทธิภาพแค่ไหนในการกรองไวรัส ถ้าใส่แล้วไม่พอดี มันก็จะไม่มีประสิทธิภาพ” คลิปวิดีโอของ WHO กล่าว “พยายามมองหาหน้ากาก ที่มีหลายขนาด และเลือกหน้ากากที่เหมาะกับหน้าของคุณ”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา