ภาพถ่ายชุดนี้แสดงห้องโดยสารบนรถไฟของประเทศจีนและตุรกี ไม่ใช่สปป.ลาว

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 15 กันยายน 2021 เวลา 08:15
  • อัพเดตแล้ว วัน 15 กันยายน 2021 เวลา 08:21
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายที่แสดงห้องโดยสารของรถไฟที่ทันสมัยได้ถูกแชร์ในโพสต์ทางเฟซบุ๊กหลายพันครั้ง พร้อมคำกล่าวอ้างว่า ภาพชุดดังกล่าวแสดงรถไฟความเร็วสูงของสปป.ลาว ที่เชื่อมต่อกับประเทศจีน โพสต์ดังกล่าว วิจารณ์การนำเข้ารถไฟ “ซากเหล็กจากญี่ปุ่น” ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายชุดนี้ถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นภาพถ่ายห้องโดยสารของรถไฟที่ให้บริการภายในประเทศจีนและตุรกี

ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 3,500 ครั้ง

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “ภาพบรรยากาศภายในรถไฟความเร็วสูงของ สปป.ลาว”

“เส้นทางวิ่งจากนครหลวงเวียงจันทน์ จนถึงนครคุนหมิงมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเสร็จสมบูรณ์แล้ว พร้อมให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2564 ค่าบริการเพียง 480 บาท”

“ส่วนคนไทยก็รอใช้บริการรถไฟดีเซลราง ซากเหล็กจากญี่ปุ่นรุ่นปี 2524”

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพถ่ายสี่ภาพ ที่แสดงห้องผู้โดยสารของตู้รถไฟที่ดูทันสมัย โดยภาพหนึ่งแสดงที่นั่งที่ปรับเอนนอนได้

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไม่นานหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศว่าจะดำเนินการนำเข้ารถไฟมือสองน้ำมันดีเซล 17 คันจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้รับการปรับแต่งก่อนนำมาให้บริการในประเทศ จากรายงานในเดือนกันยายนของสื่อท้องถิ่น

ภาพถ่ายชุดดังกล่าว ได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายชุดนี้ถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ

ทางรถไฟลาว-จีน

รายงานของหนังสื่อพิมพ์บางกอกโพสต์ ระบุว่าระบบรางรถไฟของประเทศสปป. ลาว ที่เชื่อมต่อไปยังพรมแดนกับประเทศจีน มีกำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ระบบรางรถไฟดังกล่าวไม่ได้เป็นรถไฟความเร็วสูง ตามที่โพสต์ทางเฟซบุ๊กกล่าว

รางรถไฟของลาวที่เชื่อมต่อกับประเทศจีน มีระยะทางวิ่งทั้งหมด 420 กิโลเมตร และจะจำกัดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บางกอกโพสต์รายงาน

จากข้อมูลของสหพันธ์การรถไฟระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสมาคมที่เป็นตัวแทนการขนส่งทางรางระดับนานาชาติ ระบบรถไฟ “ความเร็วสูง” ต้องวิ่งที่ความเร็วอย่างน้อย 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานข้อมูลสภาแห่งรัฐจีนกล่าวเช่นกันว่าความเร็วขั้นต่ำของโครงสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงคือ 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ภาพที่หนึ่ง

ภาพที่หนึ่งในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ไม่ได้แสดงห้องผู้โดยสารของรถไฟในประเทศ สปป. ลาว แต่เป็นภาพรถไฟที่วิ่งระหว่างกรุงปักกิ่งกับนครเซี่ยงไฮ้

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบภาพดังกล่าวปรากฏอยู่ในบทความฉบับนี้ บนเว็บไซต์ The Man in the Seat Sixty-One บล็อคการท่องเที่ยว

เว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่าภาพดังกล่าวแสดงที่นั่งในพื้นที่ชั้นธุรกิจของรถไฟ “ฟู้ฉิง” ซึ่งให้บริการระหว่างกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้

คำบรรยายภาพบางส่วนแปลเป็นภาษาไทยว่า “เบาะนั่งปรับเอนด้วยระบบไฟฟ้าและสามารถปรับเอนราบได้เพียงกดปุ่ม แต่ละที่นั่งจะมาพร้อมปลั๊กไฟ ชั้นธุรกิจมีราคาแพงแม้เมื่อเทียบจากมาตรฐานตะวันตก แต่ถ้าคุณสามารถจ่ายเพิ่มได้ก็คุ้มค่า ค่าโดยสารจะรวมอาหารจานร้อนหนึ่งมื้อ พร้อมเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำแอปเปิ้ล น้ำส้ม หรือน้ำอัดลม และมีห้องวีไอพีสำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่เดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้”

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพแรกในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากบทความการเดินทางระหว่างกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ (ขวา)

ภาพที่สอง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในบทความฉบับนี้ เกี่ยวกับรถไฟส่งออกของจีนไปยังทวีปยุโรป 

ไชน่าเดลี่รายงานในเดือนมิถุนายน 2564 ว่า รถไฟหัวกระสุนสองชั้นขบวนนี้ จะถูกส่งออกไปยังประเทศออสเตรีย

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สองในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพในบทความของไชน่าเดลี่ (ขวา)

ภาพที่สาม

การค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพที่สามในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดถูกเผยแพร่ในบทความฉบับนี้ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับรางรถไฟในประเทศตุรกี

บทความของ Siemens Mobility Global ได้เผยแพร่ภาพถ่ายที่แสดงรถไฟฟ้าความเร็วสูงซึ่งถูกพัฒนาโดยการรถไฟแห่งตุรกี (TCDD)

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สามในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากเว็บไซต์ของ Siemens Mobility Global (ขวา)

ภาพที่สี่

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพที่สี่ถูกเผยแพร่ในโพสต์ทางทวิตเตอร์เกี่ยวกับรถไฟในนครเซี่ยงไฮ้

คำบรรยายบางส่วนจากโพสต์ของ CCTV สื่อทางการของประเทศจีน แปลเป็นภาษาไทยว่า “คนงานตรวจสอบรถไฟ CR200J สำนักงานไชน่าเรลเวย์ เซี่ยงไฮ้ กรุ๊ป ในนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562”

“รถไฟ CR200J ซึ่งมีระบบพลังงานไฟฟ้าส่วนกลางที่วิ่งได้ที่ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเริ่มให้บริการก่อนการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีนในปี 2562”

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าขจอระหว่างภาพที่สี่ในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากทวิตเตอร์ของ CCTV (ขวา)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา