ผู้ประท้วงต่อต้านวัคซีนโควิด-19 ศาลาว่าการรัฐมิชิแกน เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 ( AFP / JEFF KOWALSKY)

โพสต์เสียดสีเกี่ยวกับ “คำเตือนวัคซีนโควิด-19” ของบิล เกตส์ทำให้ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยเข้าใจผิด

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 13 กันยายน 2021 เวลา 10:48
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
โพสต์เฟซบุ๊กจำนวนมากในประเทศไทย ได้แชร์คำกล่าวอ้างว่าบิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ได้กล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 “อันตรายกว่าที่คิด” อย่างไรก็ตามคำพูดดังกล่าว -- ซึ่งมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์บางคนเชื่อว่าเป็นคำกล่าวอ้างจริงของเกตส์ -- ปรากฏอยู่ในรายงานเชิงล้อเลียนเสียดสี โฆษกของมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ยืนยันกับ AFP ว่าบิล เกตส์ไม่ได้พูดคำกล่าวนั้น

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนบางส่วนว่า “ในการประกาศที่น่าตกใจ Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ร่วมก่อตั้ง Microsoft และกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน COVID-19 เรียกร้องให้มีการนำวัคซีนจากพันธุกรรม COVID-19 ทั้งหมดออกจากตลาดทันที”

“เกตส์กล่าวว่า “เราทำผิดพลาดอย่างมหันต์ เราต้องการปกป้องผู้คนจากไวรัสอันตราย แต่กลับกลายเป็นว่าไวรัสมีอันตรายน้อยกว่าที่เราคิดไว้มาก และวัคซีนก็อันตรายเกินกว่าที่ใครจะจินตนาการได้”

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพถ่ายของ บิล เกตส์ พร้อมข้อความที่เขียนว่า “คำเตือน จาก โควิด-บิล เกตส์”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ณ วันที่ 10 กันยายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานว่าประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบสองโดสที่ระดับ 16 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด สำนักข่าว AFP รายงาน

เกตส์เป็นบุคคลที่ตกเป้าหมายของข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับ โควิด-19 อยู่บ่อยครั้ง โดยก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับเกตส์ที่ทำให้เข้าใจผิดไปแล้วที่นี่และนี่

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

คอมเมนต์ในโพสต์แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนเชื่อว่าคำพูดดังกล่าวเป็นของเกตส์จริง

คนหนึ่งเขียนว่า “บอกใครต่อใครตอนนี้คงจะมีสักกี่คนที่เชื่อ บ้างน้อ มันคงสายไปแล้ว คนทั้งโลก โดนล้างสมองไปเกือบหมดแล้ว”

ขณะที่ิิอีกคนหนึ่งเขียนว่า “เราคนนึงเก้าไม่ฉีดสีบไม่ฉีดเพราะเรารุ้อะไรคืออะไร”

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

การค้นหาด้วยคำสำคัญทางกูเกิล พบว่าโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นการแปลเนื้อหาบางส่วนของบทความล้อเลียนเสียดสีฉบับนี้

บทความดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 โดยเว็บไซต์ Expose UK

ข้อความที่ปรากฏอยู่ในบทความของ Expose UK แปลเป็นภาษาไทยว่า “ในตอนแรกที่เราเผยแพร่บทความฉบับนี้ เราควรจะระบุให้ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าเป็นการล้อเลียนเสียดสี แทนที่จะชี้แจงในช่วงท้าย เราขอโทษที่ไม่ได้ชี้แจงตั้งแต่แรก”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของบมความที่แสดงให้เห็นว่าบทความดังกล่าวระบุชัดเจนว่าเป็นการ “ล้อเลียนเสียดสี” (satire) ในพาดหัวรายงาน:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของบทความล้อเลียนเสียดสี ที่ถูกเผยแพร่โดย Expose UK

ตัวแทนของมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ยืนยันกับ AFP ว่าเกตส์ไม่ได้ให้สัมภาษณ์ตามที่ถูกกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ตัวแทนของมูลนิธิยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 ว่า “คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ”

การค้นหาด้วยคำสำคัญ ไม่พบรายงานที่น่าเชื่อถือหรือแถลงการณ์ที่ยืนยันได้ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นของเกตส์

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา