ภาพถ่ายช้างอุ้มลูกสิงโตนี้เป็นภาพตัดต่อ

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 29 กันยายน 2021 เวลา 08:29
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายหนึ่งซึ่งแสดงช้างใช้งวงอุ้มลูกสิงโตขณะเดินข้างสิงโตตัวเมีย ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายนี้เป็นภาพตัดต่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นมุขตลกวันโกหกโลก (April Fool's) โดยเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ของเขตอุทยานแห่งชาติ Kruger ในประเทศแอฟริกาใต้ยืนยันกับ AFP ว่าเขาได้ตัดต่อภาพดังกล่าวจริง การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพต้นฉบับที่ถูกนำมาสร้างภาพตัดต่อดังกล่าว

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 และได้ถูกแชร์ออกไปอีกกว่า 156 ครั้ง

คำบรรยายภาพเขียนว่า: “#ภาพนี้เป็นภาพที่ดีที่สุดของปีนี้

คือแม่ช้างได้เห็น แม่สิงโตและลูกอ่อน กำลังจะข้าม#ทะเลทรายSavannah 
ซึ่งเป็นทะเลทรายร้อนมาก และรู้ว่าลูกสิงโตจะไม่มีทางรอดไปได้กับความร้อนขนาดนี้

จึงได้ช่วยแม่สิงโตเดินทางโดยเอาลูกอ่อนอุ้มไว้ที่งวง ซึ่งแม่สิงโตก็เดินมาด้วย 
เป็นภาพแห่งสันติภาพ สงบเงียบและลึกซึ้งของความช่วยเหลือในครั้งนี้”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายและคำบรรยายเดียวกันได้ถูกนำกลับมาแชร์ทางเฟซบุ๊กในปี 2564 ที่นี่และนี่ 

ภาพถ่ายเดียวกันยังถูกแชร์ทางไลน์ในเดือนกันยายน 2564

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของข้อความไลน์ที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพนี้ถูกตัดต่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบว่าภาพต้นฉบับถูกแชร์ครั้งแรกทางทวิตเตอร์ ในวันที่ 1 เมษายน 2561 โดย Kruger Sightings บริการที่รวบรวมรายงานภาพสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ Kruger ในประเทศแอฟริกาใต้

คำบรรยายทวีตของ Kruger Sightings แปลเป็นภาษาไทยบางสาวนว่า: “ขณะที่เรากำลังติดตามสิงโตตัวเมียพร้อมกับลูกเสือ และเธอกำลังเหนื่อยล้ามาก มีช้างเชือกหนึ่งโผล่มาโดยต้องการจะช่วยเจ้าสิงโตตัวเมีย ช้างเอางวงลงและลูกสิงโตก็กระโดดขึ้น และช้างก็อุ้มลูกสิงโต 3 กิโลเมตร”

ในช่วงสุดท้ายของคำบรรยายมีข้อความที่เขียนว่า “Sloof Lirpa” ซึ่งเป็นการสะกดคำว่า  “April Fools” กลับหลัง โดยเป็นการใบ้ว่าภาพดังกล่าวเป็นมุขตลกเนื่องในวันโกหกโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี

ทวีตต้นฉบับมียอดไลค์สูงกว่า 300,000 ครั้ง และถูกรีทวีตอีกกว่า 116,000 ครั้ง และทำให้มีโพสต์ที่นำภาพและคำบรรยายดังกล่าวไปแชร์ต่อหลายเดือนหลังจากโพสต์ต้นฉบับถูกแชร์

Nadav Ossendryver เจ้าของบัญชี Kruger Sightings อธิบายในโพสต์ทางทวิตเตอร์ในวันถัดมาว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพตัดต่อ

คำบรรยายทวีตดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “เมื่อวานผมได้แชร์มุขตลกวันโกหกโลกที่กลายเป็นภาพไวรัล ยอดสูงถึง 6 ล้านคน โดยมีคนเข้ามาโต้ตอบทุกๆ 0.5 วินาที”

Ossendryver ยืนยันกับ AFP ว่าเขาได้ตัดต่อภาพดังกล่าวด้วยตนเอง

“ผมเป็นคนตัดต่อเอง :) ในตอนนั้นยอดชมสูงถึง 40 ล้านคนภายในไม่กี่วัน เดี๋ยวนี้คงถึงหลายร้อยล้านแล้วมั้ง เพราะมันกลายเป็นภาพไวรัลในหลายแห่งเหลือเกิน และได้ออกข่าวด้วย” เขากล่าว

การค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพถ่ายต้นฉบับทั้งสองภาพที่ถูกนำมาตัดต่อกันเพื่อสร้างภาพช้างอุ้มลูกสิงโตดังกล่าวโดยเป็นการนำภาพถ่ายของสิงโตตัวเมีย และภาพถ่ายของช้าง มาตัดต่อเข้าด้วยกัน

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา