หลอดเลือดของอวัยวะต่างๆ ภายในของร่างกายมนุษย์ ถูกจัดแสดงในงานนิทรรศการ 'Bodies2' ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2012 ( AFP / ATTILA KISBENEDEK)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพปฏิเสธคำกล่าวอ้างเรื่องการล้างพิษในเส้นเลือดฝอย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 18 พฤศจิกายน 2021 เวลา 10:26
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
วิธีการรักษาและล้างพิษในเส้นเลือดฝอยโดยการใช้อ้อยดำและใบเตย ได้ถูกแชร์มาหลายปีติดต่อกันในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าสูตรดังกล่าวจะสามารถล้างพิษในเส้นเลือดได้จริง

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564

ข้อความในโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า: “อ้อยดำ 7 ข้อ ใบเตย 3 ใบ”

ใบเตยเป็นพืชหอมที่มีการนำมาใช้ปรุงอาหารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สูตรล้างพิษในเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดฝอยของทุกคนอาจมีอาการตีบตันเป็นเส้นเลือดสกปรก เกิดจากขยะนานาชนิด เช่น ไขมัน น้ำตาล สารเคมี กรดยูริก และอื่นๆ ทำให้เกิดอาการต้นเหตุคือ ความดันโลหิตสูง เลือกไหลเวียนไม่สะดวก แขนขาชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงเพราะหลอดสกปรก ทำให้ช่องทางการวิ่งของเลือดแคบลง ปลายเหตุคือ การช็อค หมดสติ อัมพาต หัวใจวาย”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

วิธีการรักษาดังกล่าวหรือคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ตั้งแต่อย่างน้อยปี 2556 เช่นที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

“ไม่สามารถรักษาโรคได้”

พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ นายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทยกล่าวว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่าสูตรนี้สามารถล้างพิษในเส้นเลือดฝอยได้จริง

“ไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่าสูตรดังกล่าวสามารถล้างพิษในเส้นเลือดได้จริง” เธออธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

พญ.ทัศนีย์ แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดเข้ารับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์เชี่ยวชาญ

“เส้นเลือดสามารถตีบตันได้ทุกที่ แต่ส่วนที่เกิดแล้วอันตรายที่สุดคือตรงสมองและหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลให้พิการหรือเสียชีวิตได้ เราสามารถรักษาผู้ป่วยโดยการให้ทานยาเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดตีบ ฉีดยาละลายลิ่มเลือด หรือใช้สายสวนถ่างขยายไปลากลิ่มเลือดที่อุดตัน” เธอกล่าว

นายแพทย์จักราวุธ  เผือกคง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเช่นกันว่าไม่มีคำแนะนำเรื่องการใช้อ้อยดำหรือใบเตยในการรักษาโรค

“จากตำราของการใช้ยาตามสูตรแพทย์แผนไทย ไม่มีการบันทึกสูตรดังกล่าวไว้” เขายืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564

“มีความเชื่ออยู่ว่าอ้อยดำมีสรรพคุณในการช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลีย ขณะที่ใบเตยสามารถบรรเทาอาการหน้ามืด หายใจไม่สะดวก แต่ไม่สามารถใช้รักษาโรคและไม่สนับสนุนให้ดื่มแทนน้ำเปล่า” เขากล่าว

โรคหลอดเลือด

โรคหลอดเลือด รวมถึงภาวะที่ส่งผลต่อระบบหมุนเวียนโลหิต ตั้งแต่โรคหลอดเลือดแดงไปจนถึงปัญหาลิ่มเลือด

พญ.ทัศนีย์ กล่าวว่าสาเหตุหลักของอาการหลอดเลือดตีบ เกิดจากพฤติกรรมและการบริโภค

“หลอดเลือดตีบเกิดจากการที่ไขมันเกาะตามผนังหลอดเลือดซึ่งอุดตันการไหลเวียนของเลือด โดยเกิดขึ้นได้จากการสูบบุหรี่จัด หรือการทานอาหารที่มีไขมันสูง” เธอกล่าว

“แม้แต่เส้นเลือดฝอยก็สามารถตีบตันได้ แม้ว่าอาจค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปแต่สามารถเกิดอันตรายได้”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา