เฟซบุ๊กปฏิเสธข่าวปลอมเกี่ยวกับกฏใหม่ที่ “อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2021 เวลา 10:33
- อัพเดตแล้ว วันที่ 26 พฤศจิกายน 2021 เวลา 05:45
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “กฏ Facebook/Meta ใหม่จะเริ่มในวันพรุ่งนี้ ซึ่งพวกเขาสามารถใช้ข้อความของพวกคุณได้ อย่าลืมกำหนดเวลาคือวันนี้!”
“ทุกสิ่งที่คุณเคยโพสต์จะถูกโพสต์ในวันนี้ แม้กระทั่งข้อความที่ถูกลบไปแล้ว”
“ฉันไม่อนุญาติให้ Facebook/Mate หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ Facebook/Mate ใช้รูปภาพ ข้อมูล ข้อความ หรือข้อความของฉันทั้งในอดีตและในอนาคต”
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ซีอีโอเฟซบุ๊ก ประกาศในเดือนตุลาคมว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเปลี่ยนชื่อของบริษัทแม่ -- ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของเฟซบุ๊ก (Facebook) อินสตาแกรม (Instagram) และ วอตส์แอป (WhatsApp) -- เป็นเมตา
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในประเทศสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ เอธิโอเปีย บังคลาเทศ สิงคโปร์ และประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
“ฉันสามารถยืนยันได้ว่าข้อความลูกโซ่ดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง” มนัสชื่น โกวาภิรัติ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารของเฟซบุ๊ก ประจำประเทศไทยและสปป.ลาว ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564
“ผู้ใช้งานทุกคนสามารถตรวจสอบและตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของตัวเองได้ตลอดเวลา และยังสามารถใช้เครื่องมือ Privacy Checkup ในการกำหนดการตั้งค่าเพื่อจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่พวกเขาแชร์ และกำหนดข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาให้ถูกนำไปใช้งานยังไง และวิธีป้องกันความปลอดภัยของบัญชี” เธอกล่าว
เฟซบุ๊กได้อธิบายในเงื่อนไขการใช้งานว่าการเปลี่ยนชื่อของบริษัทแม่ ไม่ได้มีผลต่อการใช้และแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้
“ถึงแม้ว่าเราได้เปลี่ยนชื่อของบริษัท แต่เราก็ยังคงมีผลิตภัณฑ์เหมือนเดิม ซึ่งรวมไปถึงแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก นโยบายข้อมูลและข้อกำหนดในการให้บริการของเรายังคงมีผลบังคับใช้ การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้ไม่มีผลต่อวิธีที่เราใช้หรือแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้”
นโยบายของหนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งผู้ให้บริการด้านโซเชียลมีเดียในการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้ปรากฏอยู่ในหน้านโยบายบนเว็บไซต์ของเฟซบุ๊ก
“ข้อมูลเท็จ”
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าวว่าคำเตือนที่ถูกแชร์ดังกล่าวเป็น “ข้อมูจเท็จ”
“ถ้าคุณลบบัญชีของคุณในโซเชียลมีเดีย ข้อมูลของคุณจะถูกลบออกทั้งหมด อาจจะใช้เวลา 2-3 วัน แต่สุดท้ายมันก็ถูกลบออก” Kevin Curran ศาสตราจารย์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัย Ulster ในประเทศไอร์แลนด์เหนือบอกกับ AFP
เขากล่าวเสริมว่า “เฟซบุ๊กหรือเมตาไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกลบไปแล้ว พวกเขาได้บอกหลายครั้ง”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับข่าวปลอมคล้ายๆ กัน เรื่องกฏใหม่ของเฟซบุ๊กในปี 2563
ปัจจุบัน AFP เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานที่ร่วมมือกับเฟซบุ๊กในโครงการตรวจสอบข่าวและข้อมูลเท็จของเฟซบุ๊ก ที่ครอบคลุมกว่า 80 ประเทศ และเผยแพร่รายงานในกว่า 24 ภาษา
ภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2559 เฟซบุ๊กจ่ายเงินเพื่อใช้นักตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checker) จากมากกว่า 80 สำนักข่าว มาตรวจสอบข้อมูลที่ถูกแชร์บนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก วอตส์แอป (WhatsApp) และอินสตาแกรม (Instagram)
26 พฤศจิกายน 2564 เราได้เพิ่มคำพูดของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมไปถึงเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเฟซบุ๊กและเงื่อนไขการใช้งาน
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา