พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโบกพระหัตถ์ให้กับพสกนิกรที่เดินทางมาเฝ้ารับเสด็จ ระหว่างพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในหลวงรัชกาลที่ 9 ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

โพสต์แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าสหประชาชาติให้เวลาไทยแก้ไขกฏหมายมาตรา 112 ภายในสองเดือน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 3 ธันวาคม 2021 เวลา 13:33
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภายหลังจากที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติตรวจสอบรายงานด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คำกล่าวอ้างว่าประเทศไทยถูกขีดเส้นให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ภายใน 2 เดือน” คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด แม้ว่าสหประชาชาติได้ระบุว่าประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนต่อคำแนะนำในรายงานภายในเวลา 4 เดือน แต่คำแนะนำดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันทางกฏหมาย ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนในไทยอธิบายกับ AFP ว่าในอดีตประเทศไทย “ให้ความสนใจน้อย” ต่อข้อเรียกร้องของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 200,000 คน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “ยุ่งแล้วสหประชาชาติ ขีดเส้น 2 เดือน “แก้ไข” ม.112”

มาตรา112 หมายถึง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) รายงานว่าตั้งแต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2563 จนถึงตุลาคม 2564 มีบุคคลที่กล่าวหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 154 คน

โพสต์ดังกล่าวแชร์คลิปวิดีโอที่แสดง นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคฝ่ายค้าน ตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อกลุ่มผู้ชุมนุม

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูป

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ภายหลังจากที่รัฐบาลไทยส่งรายงานเข้าสู่กลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ Universal Periodic Review (UPR) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศต้องนำเสนอทุกๆ 4-5 ปี เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

แม้ว่าสมาชิกสหประชาชาติหลายประเทศได้แนะนำให้ประเทศไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม ราชอาณาจักรไทยไม่มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการตาม

รายงานดังกล่าวเขียนระบุว่า ประเทศไทยต้องแสดงจุดยืนต่อคำแนะนำก่อนการประชุมรอบที่ 49 ของการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีกำหนดว่าจะเริ่มขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

“ไม่ได้มีข้อผูกมัดทางกฏหมาย”

“ประเทศไทยจะต้องตอบสนองคำแนะนำเหล่านี้ ก่อนการประชุมครั้งที่ 49 ซึ่งมีกำหนดระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 25 มีนาคม 2565” Rolando Gomez โฆษกของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติอธิบายกับ AFP

“มันไม่ถูกต้องที่จะบอกว่าประเทศไทยมีเวลาสองเดือนในการแก้ไขกฏหมายมาตรา 112 แต่แท้จริงแล้ว พวกเขามีเวลาประมาณสี่เดือนที่จะพิจารณาและแสดงท่าทีต่อคำแนะนำเหล่านี้ และนำเสนอจุดยืนในประเด็นดังกล่าว”

ถ้าไทยเลือกที่จะไม่ทำตามคำแนะนำ “ก็ไม่มีอะไรที่คณะกรรมการสามารถทำได้เพื่อที่จะบังคับ เนื่องจากคำแนะนำเหล่านี้ไม่ได้มีข้อผูกมัดทางกฏหมาย” เขากล่าว

นายกฤษฏางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่ประเทศไทยจะดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

“รัฐไทย ให้ความสนใจคำเรียกร้องจากสมาชิก UN ในประเด็นนี้น้อย ทั้งๆ ที่มีการเรียกร้องจากนานาชาติหลายรอบ เเต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์กลับเพิกเฉย มิได้ดำเนินการในการแก้ไขเรื่องนี้ใดๆ” เขากล่าวระหว่างสัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564

“ในทางกลับกับกันได้มีการเร่งจับผู้ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (ด้วยกฏหมายดังกล่าว) จำนวนมาก”

นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศของไทย กล่าวปกป้องข้อกฏหมายดังกล่าวระหว่างการประชุม UPR โดยระบุว่า “สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งสถาบันกษัตริย์ถือเป็นเสาหลักของชาติ” บางกอกโพสต์รายงาน

นอกจากนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม -- ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม -- ยืนยันว่าคำกล่าวอ้างเรื่องสหประชาชาติ กำหนดเวลา 2 เดือน ให้ประเทศไทยแก้ไข ม.112 เป็นข้อมูลเท็จ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา