เจ้าหน้าที่แพทย์เก็บตัวอย่างเยื่อในโพรงจมูกจากผู้โดยสารคนหนึ่ง เพื่อทำการตรวจหาเชื้อแบบ PCR ระหว่างการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 ที่ชานชาลารถไฟในนครมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ( AFP / INDRANIL MUKHERJEE)

แพทย์ปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าการตรวจโควิด ชนิด PCR “ไม่แม่นยำและอันตราย”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 29 พฤศจิกายน 2021 เวลา 10:59
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่เตือนว่าการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยการตรวจแบบ Polymerase Chain Reaction (PCR) ไม่แม่นยำและมีผลเสียต่อร่างกาย เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทและสมอง ได้ถูกแชร์ออกไปอย่างต่อเนื่องในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยืนยันกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานที่สรุปได้ว่าการตรวจแบบ PCR นั้นอันตราย ขณะที่หน่วยงานด้านสุขภาพระหว่างประเทศอนุมัติวิธีการดังกล่าว ว่าเป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard )ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า: “เหตุใดหน่วยงานภาครัฐจึงยังดึงดันที่จะบังคับใช้ TR-PCT test เป็น Gold Standard ในการวินิจฉัยผู้ติดเชื้อ Covid”

“ทั้งที่เทคนิคนี้ได้รับการพิสูจน์อย่างกว้างขวางโดยนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์กว่าห้าหมื่นคนทั่วโลกแล้วว่าเป็นวิธีที่เชื่อถือไม่ได้ ให้ผลบวกลวงหรือ False Positive มหาศาลกว่า 90%”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างในโพสต์นี้ที่เขียนว่า “TR-PCT” เหมือนจะเป็นการสะกดผิดของการตรวจแบบ “RT-PCR” ซึ่งเป็นตัวย่อของคำว่า Reverse transcription (RT) และ Polymerase Chain Reaction (PCR)

การตรวจแบบ RT-PCR เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในหลายประเทศ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยและนิวซีแลนด์

โพสต์ดังกล่าวแชร์ลิงก์คลิปวิดีโอยูทูป ซึ่งแสดง Dr. Kary Mullis ผู้คิดค้นวิธีการตรวจแบบ PCR กล่าวว่าวิธีการดังกล่าวไม่ใช่วิธีวินิจฉัยโรคโควิด-19 ที่แม่นยำ

โพสต์ดังกล่าวยังอ้างว่าการตรวจโดยการสวอปเนื้อเยื่อในโพรงจมูก “เป็นผลเสียต่อสุขภาพและอายุขัยของมนุษย์” โดยกล่าวว่าวิธีนี้อาจสร้างความเสียหายต่อระบบประสาทและสมองได้

คำบรรยายในโพสต์เขียนต่อว่าการสวอปที่ใช้ในการทดสอบ PCR จะถูกฆ่าเชื้อด้วยสารเอทิลีนออกไซด์ (ethylene oxide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง

นอกจากนี้ โพสต์ยังอ้างต่อว่าการใส่หน้ากากอนามัยทำให้ระดับออกซิเจนลดลง ขณะที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น และไม่สามารถใช้ป้องกันการติดไวรัสได้จริง

โพสต์ดังกล่าวอ้างว่านำข้อมูลมาจากบทความที่มีชื่อว่า “PCR Tests and the Depopulation Program” โดยแปลเป็นภาษาไทยว่า “การทดสอบแบบ PCR และโปรแกรมลดจำนวนประชากร” ของ Kevin Galalae ซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊ก ที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นเท็จ

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าคำเตือนดังกล่าวเป็นเรื่องหลอกลวง

“โพสต์นี้เหลวไหล โดยจะพยายามจะทำให้ผู้คนหวาดกลัวที่จะตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

คำกล่าวอ้าง: ผู้คิดค้น PCR “วิจารณ์การตรวจ”

คำกล่าวอ้างในโพสต์ระบุว่า Kary Mullis -- บุคคลที่คิดค้นเครื่องตรวจแบบ PCR -- ได้กล่าวว่าการตรวจด้วยวิธีการดังกล่าวไม่แม่นยำ

โพสต์ดังกล่าวลิงก์ข้อมูลมาจากคลิปวิดีโอยูทูปนี้ ซึ่งมีชื่อว่า “Kary Mullis อธิบายเกี่ยวกับการตรวจแบบ PCR”

ในคลิปวิดีโอ Mullis ได้พูดว่าผลลัพธ์จากการตรวจแบบ PCR ในการตรวจหาเชื้อไวรัส HIV อาจถูกตีความผิดได้

เขาไม่สนับสนุนให้ใช้การตรวจแบบ PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าว โดยไม่ได้หมายถึงไวรัสชนิดอื่น

นอกจากนี้ เขาไม่ได้บอกว่าการทดสอบดังกล่าว มีผลไม่แม่นยำในการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ Mullis ที่ถูกแชร์ในภาษาสเปนไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่นี่

Mullis ซึ่งปฏิเสธว่า HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเอดส์ เป็นเป็นบุคคลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในแวดวงของนักวิทยาศาสตร์ เขาเสียชีวิตในเดือนสิงหาคม 2562 หลายเดือนก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มต้นขึ้น

คำกล่าวอ้าง: การตรวจแบบ RT-PCR “ไม่แม่นยำ”

นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่าการตรวจด้วยเยื่อบุโพรงจมูก (nasal swab) เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แม่นยำ “การตรวจแบบ RT-PCR ถือว่ามีความแม่นยำสูง เพราะส่วนใหญ่แล้วเชื้อไวรัสจะพบอยู่ในโพรงจมูก ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับในน้ำลายแล้ว จะพบไวรัสน้อยกว่า” เขากล่าว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม อธิบายว่าการตรวจแบบ RT-PCR “เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานในวงการแพทย์เพื่อยืนยันเชื้อโควิด-19”

“มันเป็นการทดสอบที่ได้รับมาตรฐานในสากลเพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 วิธีการดังกล่าวใช้สารพันธุกรรมในการตรวจ” เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564

การตรวจแบบ PCR หรือ Polymerase Chain Reaction เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อ SARS-Cov-2 ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด

การตรวจแบบ PCR ใช้เพื่อตรวจ ดีเอ็นเอ (DNA) หรือสารพันธุกรรมเกลียวคู่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก SARS-Cov-2 มี RNA หรือสารพันธุกรรมเกลียวเดียว การตรวจโควิดแบบ PCR จะต้องมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่เรียกว่า Reverse Transcription (RT) โดยเป็นการแปลง RNA เป็น DNA เพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัส ขั้นตอนการทดสอบทั้งหมดจึงรวมกันเป็นตัวอักษรย่อ RT-PCR อย่างที่นิตยาสารวิทยาศาสตร์ Cosmos เขียนอธิบายไว้ที่นี่

การตรวจแบบ RT-PCR ถูกยกให้เป็น "gold standard" ในการตรวจหาโรคโควิด-19 Jim McKinney โฆษกของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) แห่งสหรัฐอเมริกากล่าวในรายงานตรวจสอบฉบับนี้ของ AFP

รัฐบาลไทยระบุด้วยว่าการตรวจแบบ RT-PCR คือวิธีการที่ถือเป็น “gold standard” ในการใช้เพื่อยืนยันการตรวจหาโรคโควิด-19

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิด เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของการตรวจแบบ RT-PCR ไปแล้วที่นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้าง: การตรวจแบบ RT-PCR “เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานว่าการตรวจแบบ RT-PCR เป็นอันตรายต่อมนุษย์

“ไม่มีหลักฐานว่าการตรวจแบบ PCR จะเกิดผลเสียต่อร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นเส้นประสาทในการรับกลิ่น (olfactory nerve) หรือตัวกั้นระหว่างเลือดและสมอง (blood-brain barrier) ตามที่โพสต์ดังกล่าวเตือน” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นพ.ธีระ ยืนยันเช่นกันว่าการตรวจแบบ PCR มีความปลอดภัย

“ไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าการตรวจแบบ PCR จะเป็นอันตรายต่อเส้นประสาทหรือสมอง -- อย่างไรก็ตามเวลาตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แนะนำให้อย่าทำแรงเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ ถ้าทำโดยผู้เชี่ยวชาญไม่มีปัญหา” เขากล่าวกับ AFP

คำกล่าวอ้าง: การตรวจแบบ RT-PCR มี “สารก่อมะเร็ง”

จากข้อมูลของสาธารณสุขอังกฤษ สารเอทิลีนออกไซด์ถูกจัดให้เป็นสารที่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ได้ และอาจจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

รายงานฉบับนี้ของ AFP อธิบายว่า เอทิลีนออกไซด์อาจถูกนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อไม้ที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวอ้างอิงคำพูดจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและสถาบันทางการแพทย์จำนวนมากกว่า การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องในการฆ่าเชื้อ “ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”

ในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว Sarah Racic โฆษกของกรมอนามัยประเทศออสเตรเลีย กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2564 ว่ายัง “ขาดหลักฐานว่าสารเอทิลีนออกไซด์ที่ตกค้างอยู่จากการฆ่าเชื้อในชุดตรวจโควิดชนิด PCR สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งหรือการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอ”

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “การตรวจแบบสวอปส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อเก็บตัวอย่างของเชื้อโควิด-19 ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสารดังกล่าว จึงไม่ได้สัมผัสกับสารเอทิลีนออกไซด์”

สำหรับชุดตรวจที่ผ่านการฆ่าเชื้อ กระบวนการดังกล่าวใช้เอทิลีนออกไซด์ซึ่งอยู่สถานะภาพแก๊ส สารดังกล่าวจึงไม่เกาะติดกับเครื่องมือ Annette Beck-Sickinger ศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีและเคมีชีวภาพ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก (University of Leipzig) กล่าวในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงภาษาเยอรมัน

“เรื่องต่างๆ ที่ระบุว่าการตรวจหาเชื้อมีความเสี่ยงในการเกิด “มะเร็ง” นั้น ไม่ได้มีหลักฐานจริง”

นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ว่า “การตรวจแบบ RT-PCR มีความปลอดภัย ไม่มีการใช้สารเคมีที่ก่อมะเร็ง”

คำกล่าวอ้าง: “หน้ากากอนามัยไม่สามารถป้องกันโควิด-19”

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19

Shabir Madhi ศาสตราจารย์ด้านวัคซีนที่มหาวิทยาลัย Witwatersrand ในประเทศแอฟริกาใต้ อธิบายกับ AFP ว่าการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน ไม่ได้ทำให้เกิด hypercapnia -- ซึ่งเป็นภาวะที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ซึ่งเกิดจากการหายใจลำบากหรือการระบายอากาศน้อย ซึ่งทำให้ปอดไม่ได้รับออกซิเจน

“ไม่มีปัญหาอะไรนะครับ “ยกเว้นคุณจะใส่หน้ากากพลาสติกชนิดกันซึม” เขาเขียนอธิบายทางอีเมล โดยกล่าวเพิ่มว่าต้องให้การดูแลเด็กเล็กเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม หน้ากากควรใช้วัสดุที่สามารถหายใจได้ “หน้ากากผ่าตัดทางการแพทย์หรือหน้ากากผ้าสามารถลดความเสี่ยงได้มหาศาลในการป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายเรา” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวกับ AFP “อย่างไรก็ตามต้องซักอย่างสม่ำเสมอ” เขาอธิบายเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างว่าการสวมหน้ากากเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดภาวะ hypercapnia ไปแล้วที่นี่

ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการลดจำนวนประชากร

Kevin Galalae ซึ่งโพสต์ดังกล่าวระบุถึงบทความของเขา ระบุในเว็บไซต์ LinkedIn ว่าเป็น “ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของศูนย์จิตสำนึกระดับโลก (Center of Global Consciousness)”

ในส่วนโปรไฟล์ของเขา เขาได้ระบุว่าองค์กรดังกล่าว “มีเป้าหมายในการขจัดวิธีการควบคุมจำนวนประชากร ทั้งด้วยวิธีการทางเคมี ชีวภาพ จิตสังคม และเศรษฐกิจ” โดยกล่าวหาว่าองค์การสหประชาชาติ และรัฐบาลของชาติต่างๆ ในโลก วางแผนเพื่อลดจำนวนประชากรโลก

ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องระเบียบโลกใหม่ -- ซึ่งรวมถึงแนวคิดว่าผู้นำโลกกำลังร่วมมือกันเพื่อลดจำนวนประชากรโลก -- ถือเป็นหลักแนวคิดของกลุ่มขวาจัดและมักถูกนำใช้ในโปรโมทแคมเปญข่าวปลอม (misinformation campaign)

แนวคิดประเภทนี้ขยายวงกว้างขึ้นมาก ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ “เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง และถูกบิดเบือนจนเกินจริง”

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสมคบคิดเรื่องระเบียบโลกใหม่ ไปแล้วที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา