พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งนำมือถือขึ้นมาถ่ายภาพบนเรือหางยาว ขณะที่นักท่องเที่ยวคนอื่นๆ กำลังดำน้ำ ในอ่าวมาหยาบนเกาะพีพีเล ในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ( AFP / LILLIAN SUWANRUMPHA)

บุคลากรสาธารณสุขไทยระบุว่าคำแนะนำออนไลน์เรื่องการ “แก้อาการเมารถ” ไม่เป็นความจริง

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 14 ธันวาคม 2021 เวลา 11:02
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำแนะนำที่ระบุว่าการนำพลาสเตอร์ปิดแผลมาแปะสะดือสามารถช่วยบรรเทาอาการเมารถหรือเมาเรือ ได้ถูกแชร์ออกไปในหลายโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่เป็นความจริง ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอธิบายกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับคำแนะนำดังกล่าว

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564

คำแนะนำดังกล่าวถูกแชร์ในกลุ่มที่มีสมาชิกกว่า 850,000 คน

โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ลิงค์ไปยังบทความในบล็อกออนไลน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลี้ยงบุตร

บทความดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า: “แชร์ประสบการณ์ จัดการลูกเมารถ ด้วยเทคนิคพลาสเตอร์”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

บทความดังกล่าวแสดงภาพของเด็ก ซึ่งมีพลาสเตอร์สองแผ่นแปะอยู่ที่สะดือ

“มาเล่าประสบการณ์จริงให้ฟังค่ะ เผื่อแม่ๆบ้านไหนจะเอาไปใช้นะคะ น้องเทนนิส 2 ขวบ 4 เดือน น้องชอบเมารถมากๆ”

“ขึ้นรถไม่ถึง 15 นาที อ้วก”

“ตาๆยายๆแถวๆบ้านบอกให้เอาพาสเตอร์ติดสะดือให้มิดเลย อย่าให้มีลมเข้าเลย”

“สุดท้าย 3 ชม. นั่งรถ ไม่อ้วก ไม่เมาเลยคะ... ไม่คิดว่าวิธีแบบนี้จะได้ผลจริงๆ”

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552

สายการบินไทยสมายล์ -- สายการบินราคาประหยัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของการบินไทย -- ได้แนะนำให้ผู้โดยสารนำพลาสเตอร์สองแผ่นมาแปะไว้ที่สะดือเพื่อป้องกันอาการเมาเครื่องบิน ในโพสต์นี้ทางเฟซบุ๊ก ในเดือนพฤศจิกายน 2557

“นำพลาสเตอร์ 2 อันมาทำเป็นรูปกากบาทแล้วแปะสะดือก่อนออกเดินทาง จะช่วยบรรเทาอาการเมารถและเครื่องบินได้! แปลกดีใช่มั้ยล่ะคะ วิธีนี้มีใครเคยลองแล้วบ้างเอ่ย?”

คำแนะนำเดียวกันถูกกล่าวถึงในโพสต์นี้ทางเฟซบุ๊ก ในเดือนธันวาคม 2563

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ เป็นเท็จ

“ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว การใช้พลาสเตอร์ไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการเมารถได้” นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ AFP

“สำหรับบางคนอาจจะได้ผล แต่นี้เป็นแค่ผลทางจิตวิทยาเท่านั้น เหมือนกับการใช้ยาหลอก หรือว่าพลาซีโบ (placebo effect)”

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่จริง”

แถลงการณ์บางส่วนเขียนว่า: “การนำพลาสเตอร์ปิดแผลมาปิดตามอวัยวะต่างๆ เช่น สะดือ ใต้สะดือ หลังหู ไม่สามารถช่วยลดอาการเมารถได้”

แถลงการณ์ดังกล่าวเขียนต่อว่า: “อาการเมารถ เมาเรือ หรือบางคนคิดว่าเมาคลื่นนั้น เกิดจากการที่ระบบประสาทการทรงตัวของเรา มีการทำงานที่ไม่สมดุล ซึ่งความไม่สมดุลนี้อาจเกิดจากระบบประสาทการทรงตัวมีการทำงานที่ไวขึ้นกว่าปกติ หรือเกิดจากการที่ได้รับแรงกระตุ้นมากเกินไป เช่น นั่งรถที่เหวี่ยงนาน ๆ หรือนั่งเรือที่โคลงเคลง โต้คลื่นเป็นเวลานาน พอทราบสาเหตุของโรคแล้ว จะเห็นได้ว่าเกิดจากการทำงานของระบบประสาทการทรงตัวเป็นหลัก ดังนั้น การนำพลาสเตอร์มาปิดตรงนู้น ตรงนี้ จึงไม่มีความเกี่ยวข้อง และไม่ได้ช่วยให้อาการเมารถ เมาเรือดีขึ้นเลย”

แถลงการณ์ฉบับเดียวกัน ถูกเผยแพร่ออนไลน์โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่จริง” และ “เชื่อไม่ได้”

ภาพอินโฟกราฟิกซึ่งผลิตและเผยแพร่โดยอย. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 กล่าวว่า “การนำพลาสเตอร์ปิดแผล มาติดตามอวัยวะต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถช่วยลดอาการเมารถได้”

อินโฟกราฟิกดังกล่าวแนะนำวิธีการป้องกันอาการเมารถและเมาเรือ ซึ่งรวมไปถึงการเว้นเวลาการทานอาหารราวครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง การนั่งด้านหน้ารถหรือนั่งตรงกลางเรือ

นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้ไม่ได้อยู่บนหลักวิทยาศาสตร์

“พลาสเตอร์ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อซึมซับบาดแผล ซึ่งไม่ได้มีผลอะไรที่จะช่วยบรรเทาอาการเมารถ” เขากล่าว

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าการนำพลาสเตอร์มาแปะข้างใต้สะดือสามารถช่วยในการลดน้ำหนักได้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา