แป้งผงภายในร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 ( AFP / PHILIPPE LOPEZ)

โพสต์ทางเฟซบุ๊กแชร์คำกล่าวอ้างเท็จเรื่องการใช้แป้งรักษาแผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 19 มกราคม 2022 เวลา 08:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊กกล่าวว่า แป้งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่เป็นความจริง” และอธิบายกับ AFP ว่าพวกเขาไม่แนะนำวิธีการรักษานี้ เนื่องจากการนำแป้งมาสัมผัสกับแผลเปิดอาจทำให้แผลอักเสบได้ พร้อมแนะนำว่าควรทำความสะอาดแผลไฟไหม้ด้วยน้ำเปล่าและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องในโรงพยาบาล

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “มือบังเอิญไปโดน น้ำซุปที่เดือดอยู่ ฉันเอามือที่ใส่ในถุงแป้งราว 10 นาที ออกมา ปรากฎว่า.. ไม่มีรอยแดง.. หรือ แผลพุพองเลย ไม่มีร่องรอยบาดเจ็บปรากฏ ทุกครั้งที่มีของร้อน ลวกถูก..จะเอาแป้งหมี่พอกไว้”

“ปล. แป้งแช่เย็น.. ได้ผลดีกว่าแป้งที่มีอุณหภูมิของห้องปกติ”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กในปี 2563 2562 และ 2557

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็ฺจ

รศ.นพ.อภิชัย อังสพัทธ์ อาจารย์ภาคศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่เป็นความจริง”

“เวลาเกิดแผลไฟไหม้ (หรือน้ำร้อนลวก) สิ่งแรกที่ต้องทำทันทีคือการล้างแผลด้วยน้ำสะอาด” เขากล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565

ผิวหนังจะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเรา การใช้แป้งซึ่งไม่สะอาดอาจทำให้แผลอักเสบและแย่ลง นพ.อภิชัย กล่าว

เขาอธิบายเพิ่มด้วยว่าแป้ง “ไม่ได้มีคุณสมบัติทางการแพทย์ในการรักษาแผล”

“ถ้าเป็นแผลเล็ก เราก็อาจซื้อครีมบรรเทาอาการอักเสบและนำมาทาแผล แต่ถ้าเป็นแผลใหญ่ก็ควรไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยระดับของอาการบาดเจ็บและรักษาอย่างถูกต้อง”

พญ.นัทยา วรวุทธินนท์ แพทย์เชี่ยวชาญแพทย์ประจำสถาบันโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ระบุเช่นกันว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม”

“หลังเกิดแผลไฟไหม้เราควรจะทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเปล่า หรือน้ำเกลือโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้” เธอบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 “และก็อาจจะใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบครีมทาบริเวณแผล”

เธออธิบายเพิ่มว่า “ไม่แนะนำให้เอาแป้งมาใส่แผลนะคะ เพราะเราไม่รู้ว่าแป้งสะอาดหรือไม่”

พญ.นัทยา อธิบายว่าการรักษาแผลที่เกิดจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวกจะขึ้นอยู่กับขนาด พื้นที่ที่เกิดแผล และระดับความรุนแรงของแผล

“ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด คนที่มีบาดแผลรุนแรงในบริเวณข้อต่ออาจเกิดปัญหาระยะยาวเกี่ยวกับข้อหรือการเคลื่อนไหว การเข้ารับฟังคำแนะนำจากแพทย์จึงเป็นเรื่องที่ดี”

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบของรัฐบาล ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าว ในบทความฉบับนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็น “ข้อมูลเท็จ”

บทความดังกล่าว ซึ่งอ้างถึงแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขไทยระบุว่า “แป้งหมี่ไม่สามารถรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ อีกทั้งยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการที่แผลจะติดเชื้อ โดยเมื่อเกิดบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หลังจากทำความสะอาดบาดแผลเสร็จแล้ว การใช้ความเย็นมาประคบบริเวณที่เกิดแผล จะสามารถบรรเทาอาการปวดได้”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา