จดหมายปลอมอ้างว่าการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยลดโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 17 มีนาคม 2020 เวลา 12:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2563
ด้านล่างคือภาพถ่ายโพสต์ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งถูกแชร์ออกไปอีก 4,800 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “เจลล้างมือก็หายาก หน้ากากก็โคตรแพง เจอข่าวนี้เข้าไป...รอดดดดดแล้วพวกเรา ผลการวิจัยจากโรง’บาลที่อเมริกาเค้าบอกว่า “ว้อดก้า” เป็นสิ่งที่สะอาดที่สุดในการใช้ดื่ม-เช็ด-ล้าง-ทำความสะอาดดดดด เอ้า ชนนนนนน!”
นอกจากคำบรรยายแล้ว โพสต์เฟซบุ๊กนี้มีรูปประกอบ 2 ภาพ โดยรูปแรกเป็นจดหมายที่อ้างว่ามาจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ โดยมีคำแนะนำให้ประชาชนดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งจะลดโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรน่าได้ ภาพที่สองเป็นภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของจดหมายที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด
ข้อความภาษาอังกฤษในจดหมายเขียนว่า “หลังจากการค้นคว้าวิจัยอย่างครอบคลุม ผลการวิจัยชี้ว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโรค COVID-19 ได้ แนะนำวอดก้าเป็นพิเศษสำหรับการดื่ม ทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ”
ด้านบนของเอกสารมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งและลงวันที่ 7 มีนาคม 2563 ขณะที่ด้านล่างมีลายเซ็นพร้อมตราประทับ
รูปเดียวกันนี้ถูกโพสต์ลงหลายเพจในเฟซบุ๊กประเทศฟิลิปปินส์ และได้ถูกแชร์ออกไปถึง 25,000 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
แม้ว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งจะตีความคำแนะนำดังกล่าวว่าเป็นเพียงแค่มุขตลก แต่โฆษกของโรงพยาบาล Saint Luke ในรัฐมิสซูรี่ของสหรัฐฯ ก็ยอมรับว่ามีผู้คนจำนวนหนึ่งเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับจดหมายเข้ามายังโรงพยาบาล
Lindsey Stitch โฆษกของโรงพยาบาลอธิบายเรื่องนี้ให้สำนักข่าว AFP ผ่านทางอีเมลว่า “ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ในที่นี้เป็นจดหมายปลอมอย่างแน่นอน” วอดก้าไม่มีผลกระทบต่อไวรัสโคโรน่าแต่อย่างใด
เพจเฟซบุ๊กของโรงพยาบาลได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความที่อยู่ในจดหมายเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ในโพสต์นี้
Stitch ย้ำถึงแนวทางปฏิบัติที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของโรงพยาบาลซึ่งแนะนำให้ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือการใช้เจลแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดมือ โรงพยาบาลไม่มีคำแนะนำที่ระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยป้องกันได้
เธอแนะนำว่าผู้ที่เริ่มมีอาการป่วยไม่ควรออกจากบ้าน
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 สำนักข่าว AFP รายงานว่าเชื้อไวรัสโคโรน่ายังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง และได้คร่าชีวิตผู้ป่วยทั่วโลกไปแล้วกว่า 6,000 ราย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา