แพทย์เตือนไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการดื่มชาเขียวสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 8 เมษายน 2020 เวลา 07:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 400 ครั้ง
ข้อความที่อยู่ในโพสต์เขียนว่า “ผลวิจัยพบว่าชาเขียวมัทฉะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันปกป้องร่างกายจากไวรัส #COVID19 ได้อีกทาง”
ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด
ภาพถ่ายหน้าจอโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด
คำกล่างอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ผ่านเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่และนี่
ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 โดย กล่าวว่า “เรื่องนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันนะครับ”
นพ.ปกรัฐ อธิบายต่อว่า “การที่ร่างกายเรามีภูมิคุ้มกันสูงไม่ได้ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสแต่อย่างใด”
นพ. Jayaruwan Bandara ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทางการแพทย์ ประเทศศรีลังกา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ว่า ถึงแม้ชาจะสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ แต่ยังไม่มีการวิจัยว่าการดื่มชาจะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยโควิด-19
เขากล่าวว่า “การดื่มชาอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้ดื่ม แต่ไม่สามารถเรียกว่าเป็นวิธีการป้องกันหรือรักษาโควิด-19 ได้ วิธีการลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการยอมรับโดยหน่วยงานด้านสุขภาพระดับนานาชาติ คือการเว้นระยะห่างทางสังคม รักษาความสะอาดที่บริเวณมือ และเลี่ยงกับสัมผัสตา ปาก และจมูก”
ดร. Ashan Pathirana นายทะเบียนประจำสำนักงานส่งเสริมสุขภาพประเทศศรีลังกาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ว่า “การเผยแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับวิธีการรักษาโควิด-19 โดยไม่คำนึงถึงหลักวิทยาศาสตร์ สามารถมีผลกระทบที่ร้ายแรงได้”
เขาเตือนว่า “แม้ว่าการดื่มชาไม่ได้มีผลเสีย แต่ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ต่อมวลชนจะสร้างความรู้สึกปลอดภัยอย่างผิดๆ ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้”
ข้อความในส่วน Q&A บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าไม่มีหลักฐานว่ายาชนิดใดสามารถป้องกันหรือรักษาโรคดังกล่าวได้
ข้อมูลจากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เผยว่า ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยมากกว่า 1,279,000 คน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงกว่า 72,000 ราย
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา