ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันไม่มีหลักฐานว่าการดื่มน้ำเย็นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 6 กรกฎาคม 2020 เวลา 14:35
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 และได้ถูกแชร์ต่อมากกว่า 27,000 ครั้ง
ข้อความบางส่วนของโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “เหตุผลที่คุณควร/ไม่ควรดื่มน้ำเย็น”
“กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นและงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อ The effect of water of temperature and voluntary drinking on the post rehyration sweating.และบทความในสถาบันวิจัยสาธารณสุข(สวรส)ยันว่าน้ำอุ่นมีประสิทธิภาพ 100% ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ”
“เวลาเราดื่มน้ำเย็นๆ อวัยวะภายในก็ตอบสนองเช่นกัน ทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้นเพื่อปรับสมดุล นั่นหมายความว่าร่างกายทำงานหนักขึ้นโดยใช่เหตุ”
คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเกี่ยวกับการดื่มน้ำเย็นได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และเป็นภาษาอังกฤษทางทวิตเตอร์ที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะพันธ์ พฤกษพานิช อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับสำนักข่าว AFP ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 โดยกล่าวว่า “การดื่มน้ำเย็นไม่ได้ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายและอวัยวะภายใน”
นายแพทย์ ปิยะพันธ์ อธิบายต่อว่า “การดื่มน้ำเย็นไม่สามารถเปลี่ยนอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายเราได้ เพราะว่าอุณหภูมิของน้ำที่เราดื่มเข้าไปจะค่อยๆ ปรับตามอุณหภูมิร่างกายของเรา”
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งถูกอ้างอิงในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ยืนยันว่าทางสถาบันไม่เคยเผยแพร่งานวิจัยใดๆ ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับน้ำเย็น
วิชานันท์ อุ่นจิตร เจ้าหน้าที่ดูแลเว็บไซต์ของสวรส. ยืนยันกับสำนักข่าว AFP ทางอีเมลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 ว่า “ทางสวรส. ไม่มีงานวิจัยดังกล่าว”
สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันเรื่องการดื่มน้ำเย็น
ชื่อวิดีโอยูทูปดังกล่าวเขียนว่า “แพทย์ชี้! ดื่มน้ำเย็นดีกว่าน้ำอุ่น ยืนยัน! ไม่ได้ทำให้ไขมันอุดตันหรือเป็นมะเร็ง”
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว AFP ได้เขียนรายงานเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าการดื่มน้ำเย็นหลังการทานอาหารมีความเสี่ยงทำให้เป็นโรคมะเร็ง
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา