ภาพถ่ายทั้งสองภาพนี้ได้ถูกเผยแพร่ออนไลน์ในรายงานเกี่ยวกับอุกกาบาต ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2558
ภาพถ่ายสองภาพที่แสดงอุกกาบาตบนท้องฟ้า ได้ถูกแชร์อย่างต่อเนื่องทางทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นภาพที่ถ่ายในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 ภาพถ่ายทั้งสองภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อุกกาบาตในประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 แต่เป็นภาพเก่าที่ถูกเผยแพร่ตั้งแต่เดือนตุลาคมในปี 2558
ภาพถ่ายชุดนี้ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 1,800 ครั้ง
คำบรรยายของทวีตดังกล่าวเขียนว่า “ใครอยู่เชียงใหม่บ้าง เค้าบอกว่าเสียงดังๆ พร้อมแสงเขียวๆ ตอนช่วง 18:35 น. คือ #อุกกาบาต !!! #เชียงราย #ดาวตก”

โพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าว ถูกแชร์ในคืนเดียวกับที่มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือของประเทศ โพสต์ว่าเห็นแสงสว่างบนท้องฟ้า และได้ยินเสียงดังตามมา
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) อธิบายว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว คาดว่าอาจเกิดจากดาวตกชนิดระเบิด (bolide) ที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก
ภาพถ่ายเดียวกันได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่
คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายทั้งสองภาพถูกเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2558
ภาพที่หนึ่ง
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพแรกถูกโพสต์ลงอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558 โดย Marko Korosec ช่างภาพสภาพอากาศ
คำบรรยายโพสต์เขียนบางส่วนว่า “นี่คือ bolide (ลูกไฟ) ที่สว่างและสวยงาม จากฝนดาวตกทอริดใต้ โดยสังเกตเห็นได้เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา 18:12 UTC 30 ตุลาคม 2558 มองไปทางใต้จากเมือง Brkini ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสโลวีเนีย”
View this post on Instagram
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่หนึ่งในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับของ Korosec (ขวา):

ภาพเดียวกันถูกเผยแพร่ที่นี่ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 บนเว็บไซต์ Spaceweather.com โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่าเป็นภาพถ่ายของ Korosec
ภาพที่สอง
การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่า ภาพถ่ายที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ตรงกับช่วงนาทีที่ 0:59 ในคลิปวิดีโอทางยูทูป ซึ่งถูกโพสต์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558
คำบรรยายวิดีโอเขียนว่า “รวมคลิป อุกกาบาต ตก 2 พ.ย. 2558 ประเทศไทย”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอจากวิดีโอยูทูป (ขวา):

คลิปวิดีโอที่แสดงอุกกาบาตลูกเดียวกันปรากฏอยู่ในวิดีโอบันทึกรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558