เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค ที่​สถานีรถไฟกลางบางซื่อ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

คำกล่าวอ้างเท็จถูกแชร์ในประเทศไทย เรื่องการใช้ยาชาหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 เวลา 10:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ขณะที่ประเทศไทยเร่งการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดระลอกใหม่ ผู้ใช้เฟซบุ๊กได้โพสต์เตือนเรื่องการใช้ยาชาหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกล่าวว่าอาจจะ “ทำให้เสียชีวิต” พร้อมระบุว่าคำเตือนดังกล่าว “อยู่บนบรรจุภัณฑ์ของกล่องวัคซีน” อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าสามารถใช้ยาชาได้ปกติทั้งก่อนและหลังการฉีดวัคซีน ขณะที่บริษัทแอสตราเซเนกาและซิโนแวคกล่าวว่าไม่มีคำเตือนดังกล่าวบนบรรจุภัณฑ์ของวัคซีน

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564

คำบรรยายโพสต์ดังกล่าวเขียนว่า “ห้ามผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน coronavirus ใดๆ ใช้ยาชาทุกชนิด แม้แต่ยาชาเฉพาะที่ หรือยาชาของทันตแพทย์ เพราะสิ่งนี้จะเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ได้รับวัคซีนอย่างมาก เป็นอันตรายอย่างมาก และอาจถึงแก่ชีวิตทันที”

“ดังนั้นผู้ที่ได้รับวัคซีนจะต้องรอ 4 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีน หากเขาติดเชื้อและหายดีแล้ว เขาสามารถใช้ยาชาได้เพียง 4 สัปดาห์หลังจากที่เขาหายจากการติดเชื้อ coronavirus  ญาติของเพื่อนคนหนึ่งได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อสองวันก่อน ไปหาหมอฟันเมื่อวานนี้ และเสียชีวิตทันทีหลังจากได้รับยาชาเฉพาะที่!  อ่านคำเตือนเรื่องวัคซีนโคโรน่าไวรัสแล้ว ในกล่องวัคซีนก็พบว่าหลังฉีดวัคซีนเสร็จมีคำเตือนว่าอย่าใช้ยาชา!”


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในประเทศไทยได้เริ่มการปูพรมฉีดวัคซีนในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อพยายามควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ สำนักข่าว AFP รายงาน

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

คำกล่าวอ้างเรื่องยาชา

สถาบันทันตกรรม ภายใต้กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าไม่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาชาหลังรับการฉีดวัคซีนโควิด-19

แถลงการณ์ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 เขียนแถลงการณ์บางส่วนว่า “วัคซีนโควิด-19 ไม่มีผลต่อการรักษาทางทันตกรรม ภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ สามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีน ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

“โดยยาชาที่ใช้ทางทันตกรรมมี 2 รูปแบบคือ ยาชาชนิดฉีด และชนิดเจล ใช้เพื่อระงับความรู้สึกในบริเวณที่ต้องการทำการรักษา และบรรเทาอาการปวดภายหลังการรักษา ซึ่งไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน ทั้งก่อนและหลังการรับวัคซีนโควิด-19 ในปริมาณยาชาที่เหมาะสมและถูกต้อง”

รศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันเช่นกันว่า “ไม่มีหลักฐานทางวิชาการ” ที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว และสามารถใช้ยาชาได้หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่มีข้อห้าม

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เขาอธิบายกับ AFP “ไม่มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาชาหลังฉีดวัคซีนโควิด-19”

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเดียวกัน โดยระบุว่าข้อความดังกล่าวเป็นข่าวปลอม

คำเตือนบนกล่องวัคซีน

ประเทศไทยใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา และโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค ในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนภายในประเทศ

พัชรพรรณ โฮ่ลิ่ม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทแอสตราเซเนกา ประจำประเทศไทยกล่าวว่า บนกล่องวัคซีนของบริษัทไม่ได้มีคำเตือนอย่างที่ถูกนำไปกล่าวอ้าง

“ไม่พบการแจ้งข้อความนั้น (ในบรรจุภัณฑ์) กล่องของเราไม่มีอะไรอยู่แล้วนอกจาก QR Code ซึ่งมีข้อห้าม ข้อบ่งใช้ และเป็นข้อมูลทางการ” เธออธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564

การตรวจสอบเอกสารกำกับยา ความยาว 12 หน้า ของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา ไม่พบข้อความที่กล่าวถึงการใช้ยาชาหลังการฉีดวัคซีน อย่างที่กล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Pearson Liu ผู้อำนวยการแบรนด์อาวุโสของบริษัทซิโนแวคไบโอเทค กล่าวว่า “ไม่มีข้อมูล” เรื่องการใช้ยาชาหลังการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค

“ข้อความนี้ไม่เป็นความจริง ไม่ได้มีคำเตือนดังกล่าว (บนกล่องวัคซีน) เราไม่เคยได้รับรายงานที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผลข้างเคียงของคนที่รับวัคซีนโคโรนาแวคและยาชา” เขากล่าว

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับคำแนะนำเรื่องวัคซีนโควิด-19 ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา