โครงกระดูกยักษ์ในถ้ำเป็นงานประติมากรรมของศิลปินชาวไต้หวัน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 06:49
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
โพสต์ทางเฟซบุ๊กได้แชร์ภาพและวิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างว่าโครงกระดูกของยักษ์ถูกค้นพบในถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศไทย คำกล่าวอ้างเดียวกันนี้ได้ถูกแชร์ในประเทศเคนย่า ไนจีเรีย รวมไปถึงในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ โครงกระดูกไม่ใช่ของจริง แต่เป็นงานประติมากรรมของศิลปินชาวไต้หวัน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานท้องถิ่นของจังหวัดกระบี่

ภาพถ่ายนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2564 โดยเป็นโพสต์ของเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Nairobi News Kenya

คำบรรยายโพสต์แปลเป็นภาษาไทยว่า “โครงกระดูกของยักษ์ถูกค้นพบที่กระบี่ ประเทศไทย ยักษ์ตัวนี้ดูเหมือนจะต่อสู้กับงูมีเขาจนมันตาย”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์เมื่อไม่นานมานี่ทางเฟซบุ๊กในประเทศเอธิโอเปีย ปากีสถาน และปีที่แล้วในเม็กซิโกและไทยที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

โครงกระดูกไม่ใช่ของจริง

การค้นหาภาพย้อนหลังพบว่าคำกล่าวอ้างนี้ได้ถูกเผยแพร่ในบทความตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่นี่และนี่

การค้นหาเพิ่มเติมพบบทความฉบับนี้ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ของ Taiwan Today สื่อดิจิทัลของวารสารไต้หวัน (Taiwan Journal) รายงานดังกล่าวเผยแพร่ภาพที่คล้ายกับภาพในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก แต่ระบุว่าโครงกระดูกในภาพนั้นเป็น โครงกระดูกพลาสติก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยศิลปินไต้หวัน Tu Wei-Cheng 

รายงานระบุว่า งานศิลปะของ Tu Wei-Cheng ถูกจัดแสดงที่งาน Thailand Biennale นิทรรศการศิลปะของประเทศไทย ในจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562

กระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวันประกาศว่า Tu Wei-Cheng ได้เดินทางไปร่วมงานนิทรรศการดังกล่าว โดยคำแถลงการณ์ของกระทรวงแปลเป็นภาษาไทยว่า “Tu สำรวจขอบเขตระหว่างมิติแห่งความจริงและเรื่องสมมติเพื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ใหม่”

Tu Wei-Cheng ได้โพสต์ถึงความคืบหน้าของการสร้างโครงกระดูกดังกล่าวบนเพจเฟซบุ๊กของเขา ในเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่นี่ นี่ และนี่

เขายังได้โพสต์วิดีโอบันทึกการทำงานของเขาเพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการ Biennale เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561

ในคลิปวิดีโอดังกล่าว Tu Wei-Cheng กล่าวว่างานศิลปะของเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านเกี่ยวกับ “การต่อสู้ของยักษ์และพญานาค”

เขาเล่าว่า “มีตำนานเกี่ยวกับถ้ำแห่งนี้ เรื่องการต่อสู้ระหว่างยักษ์และพญานาคขนาดใหญ่ ซึ่งในที่สุดทั้งตัวก็สู้กันจนตาย และกลายเป็นภูเขาน้อยและภูเขาใหญ่ในจังหวัดกระบี่”

Tu Wei-Cheng อธิบายเพิ่มว่าโครงกระดูกยักษ์และงูมีความสูง 6.5 เมตร และ 12 เมตร โดยงานทั้งสองชิ้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากอสูรและนาค ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู

ภายหลังจากที่เขาร่วมนิทรรศการ Thailand Biennale  Tu Wei-Cheng ได้สร้างงานประติมากรรมคล้ายๆ กันในเดือนกันยายน ปี 2562 ในกรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวัน

AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับคำกล่าวอ้างภาพยักษ์ Goliath ที่ถูกพบในนครเยรูซาเล็ม

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา