
นายกรัฐมนตรีไทยถูกกล่าวอ้างว่าได้รับวัคซีนโควิด-19 หลายเข็ม
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 เวลา 08:26
- อัพเดตแล้ว วันที่ 15 กรกฎาคม 2021 เวลา 09:51
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม 2564
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ฉีดวัคซีนไปเข็มเดียว ไข้ขึ้น 37.8 สรุปท่านนายกจัดไปกี่เข็มแล้วค่ะ ได้ฉีดจริงๆ ใช่ไหม #ห่วงใยท่านค่ะ เพราะประชาชนกว่าจะจองวัคซีนได้แต่ละเข็มนานเหลือเกิน”
ภาพถ่ายในโพสต์ดังกล่าวแสดงพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่แพทย์ฉีดยาให้
ข้อความในภาพเขียนว่า “ท่านนายกฉีดวัคซีนกี่เข็ม?” และ “ที่เห็นๆ 4 หมอเลยค่ะ”

พลเอก ประยุทธ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการรับมือโรคระบาด โดยถูกกล่าวหาเรื่องความผิดพลาดของนโยบายการจัดการซื้อวัคซีน ไปจนถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึงต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยยืนยันจะปฏิบัติตามแนวทางการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยระบุว่าเป็นมาตรการจำเป็นเพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกจะออกมาเตือนว่าการวิธีการดังกล่าวเป็น “แนวทางที่อันตราย” เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานรับรอง สำนักข่าว AFP รายงาน
ภาพถ่ายสี่ภาพที่แสดงพลเอก ประยุทธ์ รับวัคซีน ซึ่งถูกแชร์ที่นี่และนี่ ทำให้เกิดเสียงวิพากย์วิจารณ์จากผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์
คอมเมนต์หนึ่งเขียนว่า “บางคนยังหาเข็มแรกฉีดไม่ได้เลย เขาต้องรอวัคซีน รอตรวจ แต่นี่ลัดคิวเขา”
ขณะที่อีกคนหนึ่งกล่าวว่าพลเอก ประยุทธ์ “โกหก”
อย่างไรก็ตาม โพสต์เหล่านี้ทำให้เข้าใจผิด ภาพถ่ายสองภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ดังกล่าวแสดงพลเอก ประยุทธ์ ขณะกำลังรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19
ภาพที่หนึ่ง
การค้นหาภาพย้อนหลังพบภาพที่หนึ่งในบทความเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าเข็มแรกของพลเอก ประยุทธ์
เนื้อหาบางส่วนในบทความของข่าวสด ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 เขียนว่า “เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 16 มี.ค.ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงถึงผลจากการฉีดวัคซีนของแอสตราเซนเนกาเป็นคนแรก อย่างอารมณ์ดีว่า นึกแล้วว่าสื่อต้องถาม ในห้องประชุมก็ได้สอบถาม ทุกคนที่ฉีดมาก็ยืนยันว่าปกติ และยังสงสัยตัวเองรู้สึกหัวสมองแล่นดีจัง ยืนยันว่าไม่เป็นอะไรเป็นปกติ”
ภาพถ่ายเดียวกัน ปรากฏอยู่ในรายงานข่าวของ AFP ที่นี่

ภาพที่สอง
การค้นหาภาพย้อนหลังพร้อมการค้นหาด้วยคำสำคัญ พบคลิปวิดีโอนี้ถูกโพสต์ในช่องยูทูปของ มติชน TV เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 โดยเป็นวิดีโอที่ถูกเผยแพร่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เกือบ 2 ปี
หัวข้อของวิดีโอยูทูปเขียนว่า: “บิ๊กตู่ โชว์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ก่อนนั่งหัวโต๊ะ ถก ครม.”
ภาพที่สองในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ตรงกับภาพตั้งแต่ช่วงวินาทีที่ 22 ในคลิปวิดีโอดังกล่าว
พลเอก ประยุทธ์ ใส่ชุดเดียวกัน และมีแพทย์ผู้ที่ฉีดยาให้คนเดียวกัน

ภาพที่สาม
การค้นหาภาพย้อนหลัง พบภาพที่สามถูกเผยแพร่ในบทความฉบับนี้ของ The Standard สื่อออนไลน์ไทย เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564
พาดหัวของบทความดังกล่าวเขียนว่า “นายกฯ ฉีด AstraZeneca เข็มที่ 2 ย้ำคุณภาพวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยปลอดภัย”

ภาพที่สี่
การค้นหาด้วยคำสำคัญ พบภาพที่สี่ในรายงานข่าวฉบับนี้ของ Bright TV เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 หลายเดือนก่อนพบการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2562
เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “นายอนุทิน ชาญวีรชกูล (รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) นำคณะเข้าพบ เพื่อรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่บุคลากรกลุ่มเสี่ยง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฉีดวัคซีนด้วยแต่เป็นวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มักจะตกเป็นเป้าของข้อมูลเท็จอยู่บ่อยครั้ง AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีที่นี่และนี่
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา