ภาพถ่ายที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดไม่ได้แสดงนักเรียน “พร้อมใจชูสามนิ้วให้นายกรัฐมนตรี”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 11:40
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายชุดหนึ่งถูกแชร์หลายร้อยครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊กพร้อมคำกล่าวอ้างว่า ภาพดังกล่าวแสดงนักเรียนกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังชูสามนิ้วให้แก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ที่โรงเรียน คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายทั้งสองภาพเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน โฆษกของโรงเรียนยืนยันกับ AFP ว่านายกรัฐมนตรีไม่เคยเดินทางมาที่โรงเรียนตามที่ถูกกล่าวอ้าง

ภาพถ่ายนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 400 ครั้ง

ข้อความในภาพเขียนว่า “จ๋อยไปเลย ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกฏหมายและกฏกติกามารยาททางสังคมกับเด็กๆ ..สาธิต ม. เกษตรบางเขน สุดท้ายเด็กๆ พร้อมใจกันลุกขึ้นยืนชู 3 นิ้วให้ประยุทธ์ดู พร้อมกับพูดว่าอนาคตอยู่ตรงนี้”

โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษา คือโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

ภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ดังกล่าว ประกอบไปด้วยภาพของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนักเรียนกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังชูสามนิ้ว

การชูสามนิ้วเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ได้รับความนิยมระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฏาคม ปี 2563

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

ภาพถ่ายชุดเดียวกันได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

ภาพที่หนึ่ง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพที่แสดงพลเอกประยุทธ์ ถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ บนเว็บไซต์ทางการขององค์การบริหารส่วนตำบลคำนาดี จังหวัดบึงกาฬ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563

รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นเวลาสามเดือนก่อนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจะเริ่มขึ้นในประเทศไทย

รายงานเขียนพาดหัวว่า “ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศสกัดโควิด-19 ห้าม ปชช. ออกนอกบ้านตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีสี่ เริ่ม 3 เม.ย. นี้”

เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ได้ลงนามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 2) ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร”

ภาพถ่ายดังกล่าว เป็นภาพที่นำมาใช้ประกอบรายงานเท่านั้น

สำนักข่าว AFP พบคลิปวิดีโอการแถลงข่าวเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศของพลเอกประยุทธ์ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 ซึ่งในการแถลงข่าวนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใส่แว่นและเนคไทดั่งภาพที่ปรากฏในรายงาน

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ในปี 2563 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกตัดต่อในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่ในปี 2563 (ขวา)

ภาพที่สอง

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพที่สองที่แสดงนักเรียนชูสามนิ้ว ถูกโพสต์ลงในทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 

เนื้อหาและภาพในทวีตดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “นักเรียนเลว” กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักเรียนมัธยม ที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศไทย

นอกจากนี้ กลุ่มนักเรียนเลวยังเรียกร้องให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ลาออกจากตำแหน่ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “มีคนเคยพูดว่า #คนเสื้อแดง ได้หยอดเมล็ดพันธ์แห่งประชาธิปไตยไว้... มันคงจะจริง... เด็กในภาพที่เราอุ้มคือลูกสาว รปห.49 อุ้มท้องนางไปไล่ คมช. ผ่านมา 15 ปี  ไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม #นักเรียนเลว สวมหมวก #คนวันเสาร์  ของลุงชิว ชู 3 นิ้ว ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์”

ในภาพที่สองจะสามารถสังเกตได้ว่านักเรียนได้ผูกโบว์สีขาว -- ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลว -- ไว้ที่ข้อมือ

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจากทวิตเตอร์ในเดือนกันยายน ปี 2564 (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพที่ถูกตัดต่อในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากทวิตเตอร์ในเดือนกันยายน 2564 (ขวา)

 

ตัวแทนของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันกับ AFP ว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่โรงเรียน

“นายกไม่เคยมาโรงเรียนของเรา” นายณรงค์ชาญ ปานมั่น หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนยืนยันกับสำนักข่าว AFP “สถานการณ์โควิด เราจะหาโอกาสรวมตัวนักเรียนได้ยากมาก เราไม่เคยมีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพราะนักเรียนของเราเรียนออนไลน์ตั้งแต่ปีนี้”

“ชุดนักเรียนของโรงเรียนเราก็ไม่เหมือนกับในรูป” เขากล่าว

สำนักข่าว AFP ไม่พบรายงานข่าวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์ในโรงเรียนสาธิตเกษตรฯ ตามที่ถูกกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา