นี่เป็นภาพที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2556 จากการชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 4 มีนาคม 2020 เวลา 05:20
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 4 มีนาคม 2020 เวลา 05:27
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กและได้ถูกแชร์นับหมื่นครั้ง พร้อมคำบรรยายภาพว่าเป็นภาพการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ นี่เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อปี 2556 จากการชุมนุมประท้วงต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ภาพถ่ายที่มีผู้คนเดินประท้วงนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 และได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 24,000 ครั้ง

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่เข้าใจผิด

คำบรรยายภาพเขียนว่า “สดจาก มอเกษตรขณะนี้ ต้องบอกต่ออย่าให้เรื่องเงียบ น้องๆนักศึกษา ไม่หยุดนิ่ง ออกมาร่วมแรง ร่วมใจกัน ไม่เห็นชอบความยุติธรรมในประเทศนี้ #ไม่ใช่ขนมหวานลาดกะทิ ไม่ใช่สลิ่ม”

แฮชแท็ก #ไม่ใช่ขนมหวานลาดกะทิ เป็นแฮชแท็กการประท้วงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ต่อเนื่องจากคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทยต่างพากันจัดการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนไม่พอใจต่อรัฐบาลและเรียกร้องประชาธิปไตยของตนเอง

นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่จัดการชุมนุมขึ้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลาออกจากตำแหน่ง Bangkok Post รายงานข่าวการชุมนุมไว้ที่นี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างว่าภาพที่โพสต์เป็นภาพการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่เป็นความจริง

ภาพนี้เป็นภาพเก่าของการชุมนุมต่อต้านพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556

เมื่อนำภาพถ่ายไปค้นหาย้อนหลังผ่าน Google พบภาพนี้ที่ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2556

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กในปี 2556

คำบรรยายเขียนว่า “V for Thailand พลังชมพู จุฬามาแล้ว!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!!”

“V For Thailand” เป็นการอ้างถึงการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในปี 2556 ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากออกมาเดินประท้วงตามท้องถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เชื่อว่าถูกอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของ น.ส. ยิ่งลักษณ์สั่งการอยู่เบื้องหลัง

การประท้วงเริ่มขึ้นช่วงปลายปี 2556 ภายหลังสภาผู้แทนราษฏรเร่งผ่านร่างกฏหมาย “พ.ร.บ. นิรโทษกรรมสุดซอย” หรือ “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน มาวุฒิสภาไทยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่อนุมัติร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

Bangkok Post รายงานไว้ที่นี่ถึงพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและเหตุการณ์การประท้วงที่ตามมา

ภาพถ่ายเดียวกันที่โพสต์นำมากล่าวอ้าง ถูกโพสต์ลงใน Pantip.com ที่นี่ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2557 ในหัวข้อเรื่องจำนวนผู้คนที่ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลช่วงปี 2556-2557

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของภาพดังกล่าวใน Pantip.com

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพในเว็บไซต์ Pantip.com

 

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา