ภาพในโพสต์เฟซบุ๊กนี้ที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณพรมแดนไทย-ลาว เป็นภาพเก่าจากเหตุการณ์ดินถล่ม

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 29 มกราคม 2020 เวลา 07:30
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
รูปภาพชุดนี้ได้ถูกเผยแพร่หลายพันครั้งในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก โดยอ้างว่าเป็นภาพความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ชายแดนไทย-ลาว เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด จากทั้งหมด 4 ภาพมีภาพถ่าย 2 รูปที่เป็นภาพเก่าจากดินถล่มในจังหวัด หัวพันของ สปป.ลาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ขณะที่อีก 2 ภาพที่เหลือเป็นภาพจากรายงานข่าวแผ่นดินไหวในเดือนพฤศจิกายน

ภาพถ่ายชุดนี้ได้ถูกเผยแพร่ผ่านโพสต์เฟซบุ๊กนี้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 และได้ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 10,000 ครั้ง

ภายในโพสต์มีภาพประกอบอยู่ 4 ภาพด้วยกัน ภาพถ่ายบ้านสีเขียวที่ทรุดตัวและแตกร้าว ภาพอาคารสิ่งปลูกสร้างที่พังถล่มจนไถลลงแม่น้ำ และภาพถ่ายรอยร้าวที่ตัวอาคารบ้าน

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

ข้อความในโพสต์เขียนว่า ผลกระทบจากชาวบ้านรอบๆ เขื่อนไซยะบุรี ที่ประเทศลาว เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ลาวขนาด 5.9 ริคเตอร์ เช้าวันนี้ (21 พฤศจิกายน) เวลา 6:50 น.

รายงานของ AFP ยืนยันว่าตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 5.7 และ 6.1 ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของ สปป. ลาวจริงเมื่อวันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน แม้แต่กรุงเทพและนครฮานอยสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวครั้งนั้นได้

ภาพถ่ายชุดเดียวกันได้ถูกโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมกับคำบรรยายที่ใกล้เคียงกัน

ข้อความที่ถูกเผยแพร่ออกไปเป็นการเข้าใจผิด ภาพถ่าย 2 รูปที่ปรากฏในโพสต์เป็นภาพเก่าจากเหตุการณ์ดินถล่มที่จังหวัดหัวพันทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสปป. ลาว เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2019

เมื่อนำภายถ่ายมาค้นหาย้อนหลังในกูเกิลก็พบว่าภาพบ้านสีเขียวได้ถูกเผยแพร่โดย InsideLaos เว็บข่าวชุมชนของสปป. ลาว ในรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดินถล่มในจังหวัดหัวพันตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ปี 2562

ด้านล่างเราได้เปรียบเทียบภาพที่ปรากฏในโพสต์ในเฟซบุ๊กที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ InsideLaos (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายจากโพสต์เฟซบุ๊ค (ซ้าย) และภาพจากรายงานของ InsideLaos (ขวา)

เนื้อหาบางส่วนของรายงานข่าวภาษาลาวแปลเป็นภาษาไทยว่า “(พายุ) ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่มครอบคลุมพื้นที่หลายหมู่บ้านในจังหวัดหัวพันและหลวงพระบาง สูญหายอย่างน้อย 11 คน”

Vientiane Times สำนักข่าวภาษาอังกฤษของสปป. ลาว ได้รายงานเหตุการณ์ดินถล่มในแขวงหัวพันโดยย่อหน้าแรกเขียนว่า “พื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคมและยังมีผู้สูญหายจากดินถล่ม 7 คน”

เมื่อนำอีกภาพที่อยู่ในโพสต์ไปทำการค้นหาย้อนหลังได้พบวิดีโอความละเอียดสูงที่ถูกโพสต์ลง YouTube เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562

คำบรรยายภาษาลาวด้านล่างวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยว่า “ในประเทศลาว บ้านริมฝั่งทะเลสาบกลายเป็นเหตุการณ์อันตราย”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอ YouTube:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอวิดีโอ YouTube

การค้นหาย้อนหลังพบว่าอีก 2 ภาพในโพสต์เป็นภาพถ่ายจากรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว 21 พฤศจิกายน 2562
 

ทั้งสองภาพปรากฏในรายงานฉบับนี้ของเว็บข่าว M2F เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562

ข้างล่างคือภาพถ่ายหน้าจอเพื่อเปรียบเทียบภาพที่อยู่ในบทความ (ซ้าย) และภาพจากโพสต์เฟซบุ๊ก (ขวา):

Image
Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอจากรายงาน (ซ้าย) และภาพจากโพสเฟซบุ๊ก (ขวา)

ภาพถ่ายชุดนี้ยังปรากฏในรายงานข่าวของสำนักข่าวอื่นๆ ที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เช่นในรายงานนี้ของสำนักข่าว CCTV ของจีน และรายฉบับนี้ของหนังสือพิมพ์ The Nation

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา