ชายคนนี้ไม่ได้เซ็นสัญญากับบริษัทสเปรย์ยากันยุงเพราะ “ตดพิฆาต” ของเขา

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 29 มกราคม 2020 เวลา 07:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
บทความที่อ้างว่ามีชายชาวยูกันดาเซ็นสัญญากับบริษัทผลิตสเปรย์กำจัดแมลงที่สกัดมาจากตดพิฆาตของเขาที่มีสรรพคุณสามารถฆ่ายุงในรัศมี 10 กิโลเมตรได้ ได้ถูกแชร์ออกไปหลายพันครั้งทางเฟซบุ๊ก สำนักข่าว AFP พบว่าเนื้อข่าวมีต้นตอมาจากเว็บไซต์ข่าวเชิงล้อเลียน ขณะที่ภาพประกอบข่าวเป็นภาพถ่ายผู้ชายที่กำลังเข้ารับการตรวจโรคอีโบลาที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

สื่อแทบลอยด์อังกฤษเดอะซันได้เผยแพร่ข่าวนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 และบทความนี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้ใช้เฟซบุ๊คจำนวนมาก โดยเครื่องมือติดตามสื่อออนไลน์ CrowdTangle ยืนยันว่ามีคนเข้ามากดไลค์ไม่ต่ำกว่า 25,000 ครั้ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอรายงานของเดอะซัน วันที่ 11 ธันวาคม 2562

สื่อไทยเองก็มีการแปลรายงานดังกล่าวและนำมาเผยแพร่โดยเขียนพาดหัวว่า “โลกตะลึง ‘ตดพิฆาต’ ฆ่ายุงในรัศมี 10 กิโลฯ ชายโวเซ็นสัญญาบริษัทสเปรย์ จ่อทำขาย” ในรายงานนี้

Joe Rwamirama วัย 48 จากเมืองกัมปาลาประเทศยูกันดา เผยว่าได้มีบริษัทมาขอศึกษารายละเอียดทางเคมีจากตัวอย่างตดของเขาเพื่อนำไปพัฒนาต่อเป็นยากันยุง

Tumfweko เพจเฟซบุ๊กของประเทศแซมเบีย ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 4 แสนคนได้เผยแพร่รายงานดังกล่าวออกไป โดยมีคนเข้ามากดไลค์และแสดงความคิดเห็นไม่ต่ำกว่า 4 พันครั้ง

เว็บไซต์ข่าว GalaxyFM ก็นำบทความเดียวกันมาแชร์ทางเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามกว่า 9 แสนคนอีกด้วย

แต่ว่าต้นเรื่องมาจากไหนกันแน่?

AFP พบว่าต้นตอของเรื่องนี้มีที่มาจากเว็บล้อเลียน Ihlaya News เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 สำนักข่าว AFP ได้เคยนำเสนอรายงาน Fact-Check เกี่ยวกับบทความจากเว็บไซต์ของ Ihlaya News มาแล้วก่อนหน้านี้ คุณสามารถอ่านได้ที่นี่

หน้าเฟซบุ๊กของ Ihlaya มีการระบุว่าเนื้อหาข่าวในเพจเป็นเนื้อหาเชิงล้อเลียน นอกจากนี้ในภาษาแอฟริกันคำว่า Ihlaya แปลว่า มุขตลก  และยังมีคำอธิบายเกี่ยวกับเว็บข่าวที่เขียนว่า 'nuusparodie waarvan jy hou' ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ข่าวล้อเลียนที่คุณชื่นชอบ”

รูปภาพชายที่ถูกนำมาใช้ประกอบข่าวเป็นภาพจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก

หลังจากนำภาพไปค้นหาย้อนหลังผ่านเครื่องมือค้นหากูเกิลแล้ว พบว่าภาพถ่ายชายที่ชื่อว่า โจ รวามิรามา นั้น เป็นภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ระหว่างการตรวจโรคอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในวันที่ 15 กรกฏาคม พศ. 2562

ภาพนี้ถูกนำไปเผยแพร่โดย Sky News เกี่ยวกับการระบาดของโรคอีโบลาในภูมิภาคดังกล่าว

ด้านล่างคือภาพต้นฉบับของสำนักข่าว Reuters พร้อมคำบรรยายประกอบภาพ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอภาพถ่ายของนักข่าวรอยเตอร์ส

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา