พริษฐ์ ชิวารักษ์ แกนนำผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยพูดคุยกับสื่อมวลชนก่อนเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 ที่สภ. เมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 (AFP / Lillian Suwanrumpha)

ภาพถ่ายของนักฟุตบอลทีมอาร์เซนอลถูกใช้ในโพสต์ที่มีคำกล่าวอ้างเท็จว่าต่างชาติแทรกแซงการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 11 ธันวาคม 2563 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
ภาพถ่ายชุดหนึ่งได้ถูกแชร์หลายครั้งทางเฟซบุ๊กในเดือนธันวาคม 2563 พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวแสดงอดีตนายทหารจากประเทศเลบานอนและน้องชาย ซึ่งรับหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดให้กับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" แกนนำผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ โพสต์ต้นฉบับมาจากเพจเฟซบุ๊กเสียดสีการเมือง ขณะที่ผู้ชายในภาพถ่ายคือ เฮคเตอร์ เบลเยริน นักฟุตบอลของทีมอาร์เซนอลที่สนามกีฬาเวมบลีย์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคม 2563

ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563

โพสต์ดังกล่าวมีคำบรรยายพร้อมภาพถ่ายสองภาพ ภาพแรกแสดง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมผู้ชายสองคนที่ใส่ผ้าปิดหน้าสีดำ และภาพที่สองซึ่งอ้างว่าเป็นภาพของผู้ชายอีกคนหนึ่งในระยะประชิด

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
Screenshot of the misleading post, taken on December 8, 2020


ข้อความที่ด้านล่างขวาของภาพที่สองเขียนว่า “ร้อยโทเอกตอร์ เบเรส”

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ร้อยโท เอกตอร์ เบเรส คนนี้ อดีตนายทหารสัญญาบัตรยศร้อยโทของเลบานอน ฝีมือดี ผ่านการรบอย่างโชกโชน จนสหรัฐซื้อตัวไปรบ เคยผ่านสงครามอีรัก ยิงปืนแม่นมาก ชอบกระชากปืนออกไปยิงเองถึงหน้าประตูผู้ก่อการร้ายบ่อยๆ ต่อมาหมดสงครามอีรัก ไปรับจ๊อบเป็นบอดี้การ์ดให้จอร์จ โซรอส อยู่หลายปี”

“พอที่ไทยมีสถานการณ์ประท้วง ทักษิณเลยขอยืมตัวมาเป็นการ์ดให้เพนกวินพร้อมน้องชาย ความมั่นคงไทยต้องเข้มงวด ตรวจสอบให้ได้ว่าชาวต่างชาติเหล่านี้เข้ามาทำอะไรในไทยกันแน่”

บางกอกโพสต์รายงาน ว่ากลุ่มมวลชนสนับสนุนสถาบันกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางมารวมตัวกันด้านหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อขอให้สหรัฐฯ “หยุดการสนับสนุนการประท้วงของกลุ่มนักศึกษา” พร้อมกล่าวหาว่าสหรัฐฯ “แทรกแทรง” การเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนแสดงความคิดเห็นในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดโดยระบุใจความว่าพวกเขาเชื่อว่าภาพดังกล่าวแสดงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำหน้าที่ปกป้องแกนนำนักศึกษาจริง โดยคนหนึ่งเขียนว่า “ถอนวีซ่าได้นี่”

อีกคนเขียนว่า “ปกป้องหุ่นเชิด”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอคอมเม้นท์ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก

Image
Screenshot of Facebook comments


ภาพถ่ายพร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

โพสต์ต้นฉบับ

การค้นหาคำสำคัญพบว่าภาพและเนื้อหาถูกโพสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 โดยเพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า หลวงปู่พุทธะอิสระ Buddha SodaLime เพจเฟซบุ๊กที่โพสต์เนื้อหาเสียดสีการเมือง

เพจดังกล่าวระบุว่าตัวเองเป็น “Comedian” หรือนักแสดงตลก

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ล้อเลียนดังกล่าว

Image
Screenshot of the original post on Facebook page Buddha SodaLime



ภาพถ่ายนักฟุตบอล

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิลพบว่าผู้ชายที่อยู่ในภาพที่สองของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด คือ เฮคเตอร์ เบลเยริน นักฟุตบอลชาวสเปนที่ปัจจุบันเป็นนักเตะให้กับสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล

ภาพดังกล่าว ซึ่งเป็นของ Getty Images ปรากฏอยู่ในรายงานเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 ฉบับนี้ของ SportsPro Media เว็บไซต์ข่าวกีฬาในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

รายงานดังกล่าวเขียนพาดหัวว่า “เฮคเตอร์ เบลเยริน กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับสองของ Forest Green” เนื้อหาบางส่วนของรายงานเขียนว่า “นักฟุตบอลชาวสเปน เฮคเตอร์ เบลเยริน กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับสองของ Forest Green Rovers ทีมชั้นที่ 4 ของประเทศอังกฤษ”

AFP พบภาพดังกล่าวอยู่ในเว็บไซต์ของ Getty Images ที่นี่

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของภาพดังกล่าวในเว็บไซต์ของ Getty Images

Image
Screenshot of the photo on the Getty Images website


คำบรรยายภาพเขียนบางส่วนว่า “FA CUP รอบชิง / ลอนดอน อังกฤษ - 1 สิงหาคม: อาร์เซนอลในนัดชิงชนะเลิศระหว่างอาร์เซนอลและเชลซีที่สนามกีฬาเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 สนามฟุตบอลทั่วทวีปยุโรปยังว่างเปล่าเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมโดยห้ามแฟนบอลเข้าสนามกีฬา ซึ่งส่งผลให้แฟนบอลไม่สามารถเข้ารับชมการแข่งขันในสนามได้ในการแข่งขันนทุกนัดที่เหลืออยู่”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพจากโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก Getty Images (ขวา)

Image
Screenshot comparison between the photo in the misleading post (L) and the Getty Images photo (R)


นาย พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” บอกกับ AFP เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ว่าบอดี้การ์ดของเขาไม่ได้เป็นชาวเลบานอน แต่เป็น “ลูกครึ่งไทย”

“ผมไม่สามารถบอกรายละเอียดทั้งหมดได้เพราะเป็นความลับ แต่บอดี้การ์ดคนนี้เขาเป็นลูกครึ่งไทย” เขากล่าว

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา