
มหาวิทยาลัยมหิดลไม่ได้เตือนว่า “ตัวใครตัวมัน” ถ้าพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 10:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564
คำกล่าวอ้างในโพสต์ดังกล่าวอ้างว่าเป็นการสรุปเนื้อหาการประชุมเรื่องสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ของบอร์ดมหาวิทยาลัยมหิดล
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า:
“สถานการณ์ ล่าสุด หลังจากประชุมบอร์ดที่ มหิดลฯ วันนี้
นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ซึ่งเป็นผู้แลนโยายด้านโควิด โดยตรงของประเทศ
1. ตัวเลข 2,000 จะอยู่กับเราไปอีก ประมาณ 15 วัน เป็นอย่างน้อย
2. ถ้าไม่มีคลัสเตอร์ใหญ่เพิ่มขึ้น ก็ ตึงมือ จนจะรับไม่ได้อยู่แล้ว ถ้ามี ก็ ตัวใครตัวมัน
3. ให้ระวังความสะอาดขั้นสูงสุด โดยเฉพาะการสั่งอาหารโดย grab
4. ตัวเลขติดเชื้อ 65% ติดจากคนในบ้าน
5. สามี ภรรยา ถ้ามีห้องแยก ควรแยกกันนอนอย่างน้อย 2 เดือน
6. ห้ามคนเข้าบ้าน เด็ดขาด ไม่ว่า จะไว้ใจแค่ไหนก็ตาม
7. ควรฉีดวัคซีน (อันนี้ เราคุยกันแล้ว ว่า หมอก็พูดแบบนี้)
8. วัคซีนกำลังเร่งเต็มที่ให้เข้ามา ซึ่งก็คือ sinovac กับ astra
9. ต้องตัดใจจริงๆ ห้ามประมาทเด็ดขาดในทุกๆ เรื่อง”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งดำเนินงานภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล
คำกล่าวอ้างดังกล่าว ถูกแชร์ในขณะที่ประเทศไทยกำลังรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยประเทศไทยรายงานว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เกือบ 10,000 คนในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดยกว่า 2 ใน 3 เป็นตัวเลขผู้ป่วยในเรือนจำ สำนักข่าว AFP รายงาน
คำกล่าวอ้างดังกล่าวได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และยังได้ถูกส่งต่อในข้อความทางไลน์
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เพจเฟซบุ๊กของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคำเตือนดังกล่าว โดยระบุว่าเนื้อหาที่ถูกแชร์ ไม่ตรงกับหัวข้อการประชุมภายในการประชุมบอร์ดของมหาวิทยาลัย
แถลงการณ์ดังกล่าวเขียนว่า: “ข่าวปลอม อย่าแชร์! ประเด็นสถานการณ์ล่าสุด หลังจากประชุมบอร์ด ที่ มหิดลฯ วันนี้”
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เผยแพร่รายงานฉบับนี้ ซึ่งระบุว่าคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าวเป็น “ข่าวปลอม”
วัคซีนโควิด-19
แม้ว่าแหล่งอ้างอิงของคำกล่าวอ้างนั้นไม่เป็นความจริง แต่คำเตือนดังกล่าวก็มีส่วนถูกต้องอยู่บ้าง
โพสต์ดังกล่าวแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 และย้ำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งตรงกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านสุขภาพนานาชาติ
ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกลุ่มเสี่ยงไปแล้วกว่า 2.8 ล้านโดส
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา