แพทย์อังกฤษยืนใต้หลอดไฟยูวี ที่นครยอร์ก สหราชอาณาจักร 17 พฤศจิกายน 2557 (SIMON DAVIS / UK Department for International / AFP)

ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์โต้คำกล่าวอ้างในรายงานที่เข้าใจผิดว่า แสงอัลตราไวโอเล็ตและคลอรีนสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าได้

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 19 มีนาคม 2020 เวลา 10:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
รายงานของสื่อไทยที่อ้างว่าเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 “กลัว” 7 สิ่ง ได้ถูกแชร์ต่อนับหมื่นครั้งในสื่อสังคมออนไลน์ทั้งทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ โดยใน 7 สิ่งนั้นประกอบไปด้วยคลอรีน ระบบถ่ายเทอากาศ และแสงยูวี คำกล่าวอ้างนี้เป็นการเข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพขององค์กรนานาชาติได้อธิบายว่าวิธีการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพเมื่อใช้อย่างถูกต้องเท่านั้น และในบางกรณีอาจจะเป็นอันตรายได้หากใช้อย่างผิดวิธี

คำกล่าวอ้างได้ถูกนำเสนอเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 ในบทความออนไลน์ของหนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดยพาดหัวว่า “7สิ่งที่เจ้าวายร้าย “โควิด-19”กลัว!!” ซึ่งมียอดแชร์สูงกว่า 12,000 ครั้ง และมีคนเข้ามาอ่านมากกว่า 34,000 ครั้ง

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของบทความที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอบทความที่เข้าใจผิด

ย่อหน้าสุดท้ายของรายงานเขียนว่า “เมื่อตระหนักแล้ว ไม่ควรตื่นตระหนก ควรรู้เท่าทันเจ้าวายร้าย“โควิด-19”ด้วยว่ายังมี “จุดอ่อน” ที่ไวรัสร้ายตัวนี้ไม่อาจเอาชนะได้”

คมชัดลึกออนไลน์ ได้รวบรวม 7 สิ่งที่โควิด-19 กลัว มีดังนี้:

  1. กลัวUV
  2. กลัวอุณหภูมิสูง 56 องศาเซลเซียส
  3. กลัวอากาศที่ถ่ายเท
  4. กลัวยาฆ่าเชื้อ คลอรีน
  5. กลัวแอลกอฮอลล์ 75%
  6. กลัวการล้างมือบ่อยๆ
  7. กลัวภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งของมนุษย์”

7 สิ่งที่โควิด-19 “กลัว” ได้ถูกแชร์ต่อในโพสต์นี้โดยเพจเฟซบุ๊กของประเทศไทยที่มีผู้ติดตามกว่า 6 พันคน คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันก็ถูกโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ที่นี่ นี่ นี่ และนี่ และยังมีข้อมูลคล้ายๆ กันถูกแชร์เป็นภาษาสเปนที่นี่ และภาษาอังกฤษที่นี่ นี่ นี่ และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างในรายงานบางข้อ เป็นการเข้าใจผิดและไม่สอดคล้องกับคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

--แสง UV--

แม้ว่าแสงอัลตราไวโอเล็ต (UV) ในระดับความเข้มข้นสูงจะสามารถใช้เพื่อฆ่าเชื้อได้ แต่แสง UV ทั่วไปเช่นดวงอาทิตย์ ไม่ได้ปล่อยแสง UV ในปริมาณที่เข้มข้นพอสำหรับการฆ่าเชื้อ

ดร.นพ.ปกรัฐ หังสสูต ผู้ช่วยศาสตราจารย์หน่วยไวรัสวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ทางโทรศัพท์ว่า “แสง UV สามารถฆ่าโควิด-19 ได้ แต่ต้องเป็นแสงที่เข้มข้นเท่านั้น ซึ่งจะรวมไปถึงระยะเวลาและระยะห่างในการใช้แสงที่เพียงพอด้วย” 

องค์การอนามัยโลกเขียนอธิบายว่าแสง UV ไม่ควรนำมาใช้สำหรับการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่า “โคมไฟ UV ไม่ควรนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อที่มือหรือส่วนอื่นๆ ของผิวหนัง เพราะรังสี UV สามารถส่งผลให้เกิดการระคายเคืองที่บริเวณผิวหนังได้”

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอคำแนะนำเรื่องแสง UV ขององค์การอนามัยโลก

Image
ภาพถ่ายหน้าจอคำแนะนำองค์การอนามัยโลก

--ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีน--

น้ำยาฆ่าเชื้อคลอรีนสามารถใช้เพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่ต้องนำไปใช้อย่างถูกวิธี

องค์การอนามัยโลกอธิบายว่าไม่ควรนำคลอรีนมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อ เพราะการนำคลอรีนมาสัมผัสกับร่างกายโดยตรงจะมีความเสี่ยงต่ออวัยวะสำคัญ เช่นตาและปาก รวมถึงเสื้อผ้าที่อาจจะเสียหายจากการสัมผัสกับคลอรีนด้วย

อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียชี้แจงว่า คลอรีนสามารถนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อและทำความสะอาดอุปกรณ์หรือของใช้ทั่วไปได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาก็ระบุว่าสามารถใช้คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าในสระว่ายน้ำได้

--อุณหภูมิสูง--

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าอุณหภูมิ 56 องศาเซลเซียส สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.นพ. ปกรัฐกล่าวว่า “เนื่องจากไวรัสโคโรน่า 2019 ยังเป็นไวรัสใหม่ เรายังไม่มีการวิจัยที่พิสูจน์คำกล่าวอ้างนี้ได้”

อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกมีหลักฐานว่า SARS ซึ่งเป็นโคโรน่าไวรัสชนิดหนึ่งที่ระบาดไปทั่วโลกช่วงปี 2545-2546 ไม่สามารถมีชีวิตรอดอยู่ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 56 องศาเซลเซียสได้

--คำกล่าวอ้างอื่นๆ--

วิธีการอื่นๆ ที่เขียนอยู่ในรายงานสามารถใช้เป็นวิธีป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพได้เมื่อใช้อย่างถูกต้อง

น้ำยาล้างมือที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เข้มข้นสามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวได้ ดร.นพ.ปกรัฐ ย้ำว่า “แอลกอฮอล์ในระดับความเข้มข้น 70-75% ขึ้นไปเท่านั้นที่จะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าได้”

เอกสารของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ บันทึกไว้ว่าว่าน้ำยาล้างมือควรมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอย่างน้อย 60% ขณะที่น้ำยาทำความสะอาดควรมีส่วนผสมแอลกอฮอล์ย่างน้อย 70% และสินค้าทั้งสองชนิดนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อการบริโภค

การระบายอากาศเป็นอีกวิธีป้องกันที่มีการพูดถึง แต่ไม่ถือว่าเป็นวิธีป้องกันไวรัสที่จะได้ผลเสมอไป

รายงานของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรปเขียนในรายงาน “แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิของการระบายอากาศเพื่อลดการแพร่เชื้อ โควิด-19 ไม่ว่าจะด้วยเครื่องจักรหรือวิธีการทางธรรมชาติ แต่ถือได้ว่าวิธีนี้มีความเป็นไปได้ทางหลักการ และควรนำไปใช้ รวมถึงปรับปรุงระบบระบายอากาศโดยเฉพาะสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกันเป็นประจำ”

การล้างมืออย่างสม่ำเสมอรวมถึงการเพิ่มความแข็งแรงให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นอีกวิธีที่ได้รับการที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา