แพทย์ไทยอธิบายว่ายาที่ใช้รักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรน่าสามารถบรรเทาอาการได้ แต่ไม่ได้รักษาการติดเชื้อไวรัส

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วัน 17 กุมภาพันธ์ 2020 เวลา 10:20
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์รวมไปถึงรายงานข่าวในสื่อหลายๆ แห่งได้ถูกแชร์ออกไปหลายร้อยครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมคำกล่าวอ้างว่าประเทศไทยสามารถรักษาผู้ป่วยไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ให้หายภายใน 48 ชั่วโมงโดยใช้ส่วนผสมของยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีและยาต้านไวรัสโรคไข้หวัดใหญ่ คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เกิดการเข้าใจผิด แพทย์ไทยกล่าวว่ายาค็อกเทลสามารถช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ภายใน 48 ชั่วโมง แต่ไม่ได้รักษาการติดเชื้อของไวรัสให้หาย องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า “ไม่มียาชนิดใด”ที่ใช้ในการป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รูปนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 และได้ถูกแชร์ออกไป 282 ครั้ง

โดยโพสต์นี้ประกอบไปด้วยรูปภาพของคนสองคนที่กำลังสวมเสื้อกาวน์ในห้องแล็บ และมีคำบรรยายภาษาอังกฤษที่เขียนว่า: “ประเทศไทย รักษาเชื้อโคโรน่าไวรัสด้วยยาต้านเอชไอวีภายใน 48 ชั่วโมง แพทย์ผสมยาต้านไข้หวัด oseltamivir กับ lopinavir และ ritonavir ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสใช้สำหรับการรักษาเชื้อเอชไอวี”

ด้านล่างเป็นภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

สำนักข่าว AFP รายงานเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด 1,800 คนและมีผู้ติดเชื้อในประเทศจีนถึง 70,000 คน ตั้งแต่เชื้อนี้ได้ถูกค้นพบในเมืองอู่ฮั่นในช่วงปลายปี 2562

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกโพสต์ลงในทวิตเตอร์ที่นี่ นี่ และนี่ บนเว็บไซต์ของประเทศกานาที่นี่ และบนเว็บไซต์ข่าวของประเทศยูกันดาที่นี่

คำกล่าวอ้างเหล่านี้เป็นการเข้าใจผิด แพทย์ไทยอธิบายว่ายาค็อกเทลที่ช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยไวรัสโคโรน่าดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง แต่ไม่ได้เป็นการรักษาการติดเชื้อไวรัส

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่าผู้ป่วยชาวจีนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่านั้นมี “อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากที่แพทย์ให้ยาค็อกเทลซึ่งเป็นส่วนผสมของยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีและยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ นี่คือการรายงานของสำนักข่าว AFP เกี่ยวกับหัวข้อนี้

นายแพทย์ เกรียงศักดิ์ อติพรวณิช อายุรแพทย์โรคปอด นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลราชวิถี หนึ่งในทีมแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย ได้กล่าวในการแถลงการณ์ของสื่อของกระทรวงสาธารณสุข

นี่เป็นวิดีโอของการแถลงการณ์ของสื่อซึ่งได้ถูกโพสต์ลงช่องยูทูปของสถานีโทรทัศน์ Workpoint News

นพ. เกรียงศักดิ์กล่าวว่า “ก็มีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้ที่มีอาการรุนแรง ก็ได้พยายามทำการรักษา ปรากฏว่าได้ผลที่น่าพึงพอใจคือคนไข้อาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง”


“10 วันที่คนไข้อาการก่อนมาถึงมือที่โรงพยาบาล คนไข้อาการเเย่ลงเรื่อยๆ ค่าการอักเสบในเลือดก็สูงขึ้น สูงขึ้นทุกวัน คนไข้มีแนวโน้มที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่ว่าหลังจากที่ได้ให้ยาไป ปรากฏว่าคนไข้อาการดีขึ้นชัดเจน ไข้ลง คนไข้ทานอาหารได้ดี”

ภายหลังการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกระทรวงสาธารณสุขได้ตีพิมพ์บทความนี้นี้ โดยเขียนหัวข้อว่า “อนุทิน เผยข่าวดี แพทย์ไทยรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา อาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมงหลังรักษา”

ข้อความบางส่วนของบทความเขียนว่า “รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยแพทย์โรงพยาบาลราชวิถี รักษาผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีอาการหนัก อาการดีขึ้นใน 48 ชั่วโมง ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ เตรียมทีมแพทย์ สถานที่ พร้อมรับคนไทยกลับจากอู่ฮั่น”

องค์การอนามัยโลกกล่าวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ว่ายัง “ไม่มียาชนิดใด” ที่สามารถใช้ในการป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ให้หายขาดได้

“ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีตัวยาใดที่สามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อควรจะได้รับการรักษาและดูแลที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการ และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรที่จะได้รับการดูแลแบบประคับประคอง มีการตรวจสอบแนวทางการรักษาหลายๆ วิธีเพื่อที่จะพิสูจน์ทางการเเพทย์ องค์การอนามัยโลกกำลังช่วยการประสานงานและดำเนินการสนับสนุนทุกๆ ความพยายามในการพัฒนายารักษาโรคไข้หวัดโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่กับหุ้นส่วนจากหลากหลายองค์กร”

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคซึ่งเป็นสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกายืนยันเช่นกันว่า “ไม่มีการแนะนำยาต้านไวรัสชนิดใด” สำหรับการรักษาการติดเชื้อของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

“ผู้ที่ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ควรเข้ารับการรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการป่วย” 

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา