พนักงานบาร์เตรียมม็อกเทลผสมกระท่อม ที่ค็อกเทลบาร์ Teens of Thailand ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ( AFP / Jack TAYLOR)

โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดว่า “ฟอร์มาลินในน้ำแข็งทำให้คนไทยเป็นโรคมะเร็ง”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 05:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างว่าประเทศไทยมี “ตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สูงที่สุดในโลก” เพราะประชาชนในประเทศรับประทานน้ำแข็งที่มีส่วนผสมของสารฟอร์มาลิน และเพราะดื่มน้ำที่มีคลอรีน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ โดยอธิบายว่าไม่มีหลักฐานเรื่องสารฟอร์มาลินถูกใส่เข้าไปในน้ำแข็ง นอกจากนี้ สารคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาถูกควบคุมด้านความปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยไม่ได้มีตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สูงที่สุดในโลก

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565

คำบรรยายบางส่วนเขียนว่า “พึ่งจะรู้ว่าน้ำแข็ง ยูนิค...ที่กินกัน ผสม"ฟอร์มาลีน" เพื่อไม่ให้ น้ำแข็ง ละลาย เร็ว ตื่นมาหิวน้ำก็กินน้ำประปาใส่ คลอรีน คนไทยจึงเป็น มะเร็ง อันดับ 1 ของโลก”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวยังระบุว่า “ฝรั่งที่มา เที่ยวภูเก็ตเขาจะ ไม่กินน้ำแข็งหลอดบ้านเราเลย ถามเขา ได้คำตอบ ตรงกันว่าใส่สาร ฟอร์มาลินเรื่องจริง”

ฟอร์มาลีนเป็นรูปแบบของเหลวของสารฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่มีสีและมีกลิ่นแรง มักถูกนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมเป็นยาฆ่าเชื้อและถูกใช้เป็นสารดองศพในห้องเก็บศพและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ และมีการใช้สารดังกล่าวในอาหารและยาบางชนิด

งานวิจัยพบว่าคนงานที่สัมผัสกับสารฟอร์มาลดีไฮด์ที่มีความเข้มข้นสูง อาจมีผลทำให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิด

คลอรีนเป็นสารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในปริมาณน้อยในการฆ่าเชื้อในน้ำดื่มและสระว่ายน้ำ

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่

คอมเมนต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าวที่ระบุว่าประเทศไทยมี “อัตราการเกิดโรคมะเร็งที่สูง”

คำหนึ่งเขียนว่า “อย่ากินเยอะน้ำแข็ง” ขณะที่อีกคนหนึ่งเขียนว่า “ไม่ชอบกินน้ำแข็ง รอดละ”

อย่างไรก็ตามคำกล่าวอ้างนี้ ทำให้เข้าใจผิด

คำกล่าวอ้างเรื่องสารฟอร์มาลีน

ศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันกับ AFP เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

“ไม่มีข้อมูลยืนยันทั้งสิ้นเรื่องที่ฟอร์มาลีนทำให้น้ำแข็งละลายช้า ตามหลักการแล้วเป็นไปไม่ได้” เขากล่าว

“เรื่องนี้เป็นข่าวลวงที่ถูกแชร์มาหลายปีแล้ว”

เขาอธิบายว่าการละลายของน้ำแข็ง “ไม่สามารถถูกยับยั้งด้วยสารเคมีใดๆ” นอกจากนี้เขาอธิบายเพิ่มว่า “ตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะรับประทาน” ก้อนน้ำแข็งที่ใส่สารฟอร์มาลิน เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีกลิ่นและรสชาติที่รุนแรง

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติ ปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้เช่นกัน

“มันมีกลิ่นฉุนมาก แม้ในปริมาณที่เล็กน้อยก็สามารถทำให้แสบจมูกและดวงตาของคุณได้” เขาบอกกับ AFP เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565

ผู้เชี่ยวชาญต่างบอกว่าไม่มีหลักฐานว่าสารคลอรีนในน้ำประปาสามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

ธีรยุทธกล่าวว่า: “คลอรีนถูกใช้เพื่อฆ่าเชื้อน้ำประปา และนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณที่ใช้ถูกควบคุมและถือว่าปลอดภัยสำหรับมนุษย์”

จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งในไทย

จากข้อมูลล่าสุดที่ถูกรวบรวมโดยหน่วยงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ประเทศไทยไม่ได้มีตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สูงที่สุดในโลก

ข้อมูลจากรายงานฉบับล่าสุดของ Global Cancer Observatory ศูนย์วิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในปี 2563 ประเทศที่มีตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็งอันดับต้นๆ ของโลกคือประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ ครองตำแหน่งสูงสุดโดยการวัดจากกำหนดมาตรฐานอายุของผู้ป่วยโรคมะเร็ง (age-standardised rates) โดยดัชนีดังกล่าวเป็นเทคนิคที่สามารถนำสถิติของประเทศที่มีอายุเฉลี่ยของกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันได้

ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 19 จากตัวเลขผู้ป่วยโรคมะเร็ง และอยู่ในอันดับที่ 88 จากการวัดด้วยดัชนี age-standardised rates

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา