
โพสต์เฟซบุ๊กในไทยแชร์คำแนะนำที่ทำให้เข้าใจผิดเรื่องการ “ดูดซับสารพิษออกจากผักผลไม้”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08:50
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565
คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า “แช่ผักและผลไม้ด้วยถ่าน”
“ถ่านสามารถช่วยดูดซับสารพิษหรือยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนติดมากับผักและผลไม้ โดยให้แช่น้ำ 15-20 นาที แล้วล้างผักผลไม้ให้สะอาดด้วยน้ำสะอาด”
โพสต์ยังกล่าวต่อด้วยว่า “สามารถนำถ่านกลับมาใช้ได้อีกหลายครั้ง”

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพที่แสดงถาดเงินที่มีน้ำ ถ่านไม้ และองุ่นอยู่ข้างใน และได้ถูกแชร์มากกว่า 11,000 ครั้ง
คำกล่าวอ้างเดียวกัน ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่
ถ่านเป็นคาร์บอนที่ใช้สำหรับการทำความร้อนและปรุงอาหาร
สมศักดิ์ ศิริวนารังสรรค์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย อธิบายว่าคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
“แม้ว่าจะมีเคสทางการแพทย์ที่ถ่านกัมมันต์ถูกนำมาใช้ดูดซับสารพิษในร่างกายเรา แต่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าวิธีนี้จะสามารถดูดซับสารทั้งหมดจากผักผลไม้” เขาให้สัมภาษณ์กับ AFP เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
“ไม่แนะนำวิธีดังกล่าวนะครับ” สมศักดิ์กล่าว “ยังไม่มีงานวิจัยที่แนะนำให้ใช้ถ่านสำหรับการล้างผักและผลไม้”
กรมอนามัยได้เผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการล้างผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทาน
โดยแนะนำให้ล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำไหล น้ำผสมน้ำส้มสายชู และน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต และล้างต่อด้วยน้ำสะอาด ไม่มีการกล่าวถึงการใช้ถ่านหรือถ่านกัมมันต์
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่าโพสต์ดังกล่าวดูเหมือนจะเข้าใจผิดระหว่าง “ถ่านไม้ธรรมดากับถ่านกัมมันต์”
ถ่านกัมมันต์เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของธาตุคอร์บอนที่ผ่านการผลิต มีคุณสมบัติในการดูดซับก๊าซหรือของเหลว โดยมีประโยชน์ในกระบวนการทำให้น้ำบริสุทธิ์
ดร.เจษฎากล่าวว่าแม้ถ่านกัมมันต์สามารถใช้เพื่อทำความสะอาดน้ำได้ แต่ “ไม่แนะนำ” เพื่อการใช้ล้างผักและผลไม้เนื่องจากอาจไม่สามารถดูดซับสารพิษได้ทั้งหมด
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา