บุคลากรทางการแพทย์ทดสอบตัวอย่างเนื้อเยื่อในโพรงจมูก ที่ศูนย์ตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ภายในลานจอดรถแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ( AFP / JACK TAYLOR)

โพสต์แชร์คำกล่าวอ้างเท็จเกี่ยวกับชุดตรวจโรคโควิด-19

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 08:24
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าชุดตรวจโควิด-19 ชนิดแอนติเจน “ไม่สามารถระบุไวรัสได้” “เนื่องจากเป็นเพียงอุปกรณ์ตรวจภูมิต้านทานร่างกาย” ได้ถูกแชร์หลายพันครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก โพสต์ดังกล่าวได้แชร์ภาพผลส้มพร้อมผลตรวจที่เป็นบวก ข้างๆ สบู่ที่แสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าชุดตรวจถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ และยืนยันว่าชุดตรวจแอนติเจนมีความแม่นยำถ้าใช้ถูกวิธี

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 6,000 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์กล่าวว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบแอนติเจน หรือชุด ATK จะแสดงผลสองเส้นสำหรับตัวอย่างที่เป็น “กรด” ซึ่งแสดงว่าคนที่ตรวจมีภูมิคุ้นกันที่น้อยสำหรับโรคโควิด-19 ขณะที่ชุดตรวจที่แสดงผลเป็นเส้นเดียวจะระบุว่าคนตรวจมีระดับภูมิที่เป็น “ด่าง”

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ATK มันแค่อุปกรณ์ตรวจแอนติบอดี้ กรดขึ้น2ขีด  ด่างจางเหลือ1ขีด  ลองไปเล่นกันดูไหม?” 

“คนป่วยส่วนมากร่างกายเป็นกรดสูงอยู่แล้ว แอนติบอดี้ต่ำ ATK ก็ทำตามหน้าที่มัน แต่ไม่ได้สามารถระบุไวรัสใดๆ สรุปถ้าสารคัดหลั่งเป็น กรดคือติดทุกคน #เลิกตรวจก็เลิกติด”

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพที่แสดงผลส้มพร้อมชุดตรวจที่แสดงผลเป็นบวก ข้างๆ กันเป็นก้อนสบู่พร้อมชุดตรวจที่แสดงผลตรวจโควิดเป็นลบ

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

 

ภาพถ่ายและคำกล่าวอ้างเดียวกันได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอธิบายกับ AFP ว่าภาพและคำกล่าวอ้างนี้เป็นตัวอย่างของการใช้เครื่องตรวจผิดวิธี

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า “นี่เป็นตัวอย่างของการใช้ชุดตรวจแอนติเจนที่ผิดวิธี ซึ่งแสดงผลบวกที่ผิดพลาด”

นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า “ชุดตรวจแอนติเจนเป็นวิธีตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่มีความแม่นยำ ถ้าเราใช้มันถูกวิธี”

ก่อนหน้านี้ AFP ได้ตรวจสอบข้อมูลเท็จเกี่ยวกับชุดตรวจโรคโควิด-19 ที่แสดงผลบวกเท็จ ซึ่งรวมไปถึงการนำน้ำประปา น้ำส้ม แยมแอปเปิลและโคล่า หรือแม้แต่เบียร์ มาใส่ชุดตรวจ

การตรวจโควิด

กรมควบคุมโรคได้เผยแพร่ภาพอินโฟกราฟฟิกนี้ โดยเป็นการอธิบายขั้นตอนการใช้ชุดตรวจโควิด-19

เอกสารดังกล่าวอธิบายว่าการตรวจหาเชื้อ ต้องทำตามคำอธิบายอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าผลตรวจมีความแม่นยำสูงสุด โดยขั้นตอนรวมถึงการใส่สารบัฟเฟอร์ลงไปในอุปกรณ์ทดสอบก่อนที่จะนำตัวอย่างจากจมูกหรือลำคอของผู้ป่วยใส่ตามลงไป

ธีระวัฒน์ กล่าวว่าชุดตรวจแอนติเจนสามารถ “ตรวจจับตัวอย่างโปรตีนของเชื้อไวรัสโควิด” ไม่ใช่การตรวจวัดภูมิคุ้มกันของร่างกาย

“ชุดตรวจแอนติเจนไม่ได้ตรวจภูมิคุ้มกัน หรือระดับกรด/ด่าง” เขากล่าว “คำกล่าวอ้างนี้ไม่ถูกต้อง”

ขจรศักดิ์กล่าวว่าชุดตรวจแอนติเจน “มีประโยชน์” สำหรับการคัดกรองโรคโควิด-19 เบื้องต้น ขณะที่ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกควรเข้ารับการตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำ เพื่อยืนยันผลตรวจ

“ชุดตรวจ ATK มีประโยชน์ในการคัดกรองเบื้องต้นสำหรับพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่น เช่นในแคมป์คนงานหรือชุมชุนที่การเว้นระยะห่างเป็นไปไม่ได้” เขากล่าว “การตรวจด้วยวิธีนี้จะรู้ผลเร็วกว่าวิธีการอื่นๆ”

“ถ้าชุดตรวจแสดงผลเป็นบวก คุณก็ควรเข้ารับการตรวจแบบ  RT-PCR เพื่อยืนยันผล”

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าชุดตรวจแอนติเจนสามารถตรวจหาชิ้นส่วนของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา