ภาพตัดต่อรายงาน CNN ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่า “ปูตินชะลอการรุกรานยูเครน”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 06:15
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 2 มีนาคม 2022 เวลา 05:04
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ฮ่องกง
ภาพถ่ายหนึ่งได้ถูกแชร์หลายพันครั้งในหลายโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพรายงานข่าวของสื่อ CNN ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกตัดต่อจากภาพรายงานข่าวในปี 2560 เกี่ยวกับคำพูดของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โฆษกของ CNN บอกกับ AFP ว่าภาพถ่ายดังกล่าวเป็นรายงาน “ปลอม” ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 AFP ไม่พบรายงานดังกล่าวที่ถูกเผยแพร่โดยสื่อที่น่าเชื่อถือ

ภาพดังกล่าวแสดงวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับ Kate Bouldan ผู้ประกาศข่าว CNN ในรายการข่าว “At This Hour”

ภาพดังกล่าวถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565

ข้อความในภาพถ่ายหน้าจอของรายงานข่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “แหล่งข่าว: ปูตินจะชะลอการบุก จนกว่าไบเดนจะส่งมอบอาวุธให้ยูเครนเพื่อให้รัสเซียยึด”

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “สื่อ CNN รายงานว่า: ปูตินชะลอการบุกยูเครนไว้ก่อน จนกว่าไบเดนจะส่งมอบอาวุธให้ยูเครนเพียงพอที่รัสเซียจะไปยึดเอามา (อย่างคุ้มค่า)”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียได้เคลื่อนกำลังทหารกว่า 100,000 นาย พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์หนักเข้าไปในพื้นที่โดยรอบประเทศยูเครน สำนักข่าว AFP รายงาน

สหรัฐอเมริกาและชาติพันธ์มิตรกล่าวหาว่ากรุงมอสโกว่ากำลังเตรียมการรุกรานประเทศยูเครน ซึ่งในอดีตยูเครนเป็นประเทศในกลุ่มสหภาพโซเวียต แต่ได้มีความพยายามในการเข้าร่วมกับองค์กรด้านความมั่นคงของฝั่งตะวันตก ซึ่งรวมไปถึงองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ปูตินประกาศรับรองสถานะรัฐอิสระของ 2 รัฐทางภาคตะวันออกของยูเครน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาติตะวันตกที่เตือนว่าจะตอบโต้การตัดสินใจดังกล่าวด้วยการมาตรการคว่ำบาตร การยอมรับสถานภาพรัฐอิสระของดอแนตสก์และลูฮันสค์ของปูติน ส่งผลให้แผนยุติสงครามยูเครนในปี 2558 เป็นโมฆะ

ภาพถ่ายหน้าจอดังกล่าวถูกแชร์ทางเว่ยป๋อ เฟซบุ๊กทวิตเตอร์และเรดดิต พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันว่าภาพดังกล่าวแสดงรายงานข่าวจริงจาก CNN

ภาพถ่ายเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทยทางเฟซบุ๊กที่นี่ และทางทวิตเตอร์ที่นี่

อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกตัดต่อ

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบรายงานของ CNN ที่ถูกเผยแพร่ทางยูทูป เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 โดยเป็นรายงานข่าวที่ปูตินปฏิเสธว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

หัวข้อของวิดีโอดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “ปูติน: รัสเซียไม่เคยแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ”

ภาพถ่ายหน้าจอในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด นำภาพจากรายงานฉบับนี้ไปดัดแปลง

หัวข้อข่าวในรายงานต้นฉบับนี้แปลเป็นภาษาไทยว่า “แหล่งข่าว: ความหวังของทรัมป์ในการบรรลุข้อตกลงกับรัสเซียเริ่มหมดลง”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอวิดีโอยูทูปของ CNN

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อ (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอจากรายงานข่าวของ CNN (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพตัดต่อ (ซ้าย) และภาพถ่ายหน้าจอจากรายงานข่าวของ CNN (ขวา)

โฆษกของ CNN ยืนยันกับสำนักข่าว AFP ว่าภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นภาพ “ปลอม”

ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 AFP ไม่พบรายงานในหัวข้อดังกล่าว ถูกเผยแพร่หรือออกอากาศโดยสื่อในสหรัฐฯ หรือโดยองค์กรสื่อมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือ

คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดดังกล่าว ได้ถูกตรวจสอบโดยสำนักข่าว Reuters

รายงานของสำนักข่าว CNN ตกเป็นเป้าของข้อมูลเท็จที่ถูกแชร์ออนไลน์อยู่บ่อยครั้ง โดย AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับ CNN ไปแล้วก่อนหน้านี้ที่นี่และนี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา