ผู้หญิงในภาพถ่ายนี้ไม่ใช่สมเด็จพระราชินีเกอเนอพิลแห่งมองโกเลีย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 05:13
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 05:20
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
 

ภาพถ่ายรูปหนึ่งที่แสดงผู้หญิงคนหนึ่งในเครื่องแต่งกายหรูหราถูกแชร์นับร้อยครั้งในหลายโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพถ่ายสมเด็จพระราชินีเกอเนอพิล (Genepil) สมเด็จพระราชินีองค์สุดท้ายของประเทศมองโกเลีย อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ นักประวัติศาสตร์และเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษอธิบายกับ AFP ว่าไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าภาพถ่ายดังกล่าวแสดงราชินีเกอเนอพิลแห่งมองโกเลีย

บรรยายโพสต์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า: “องค์ราชินี Genepil ราชินีพระองค์สุดท้ายของประเทศมองโกเลีย ค.ศ. 1920” 

ภาพดังกล่าวเป็นภาพสีซึ่งแสดงผู้หญิงคนหนึ่งกำลังใส่เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับศีรษะที่หรูหรา

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในกลุ่มเฟซบุ๊กเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี ซึ่งมีสมาชิกกว่า 299,000 คน

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์มากกว่า 240 ครั้ง ตั้งแต่ถูกโพสต์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด

เกอเนอพิลเกิดในปี ค.ศ. 1905 และเป็นภรรยาคนที่สองของบอจ์ด ข่าน (Bogd Khan) ซึ่งปกครองประเทศมองโกเลียและประกาศเอกราชออกจากการครอบครองของประเทศจีนใน ค.ศ. 1911 

รายงานข่าวระบุว่าเธอถูกสังหารในปี ค.ศ. 1938 ระหว่างการปราบปรามของกลุ่มสนับสนุนสตาลินในประเทศมองโกเลีย ระหว่างปี ค.ศ. 1937-1939

ภาพถ่ายเดียวกันที่อ้างว่าเป็นภาพของราชินีเกอเนอพิล ได้ถูกโพสต์ลงทางเฟซบุ๊กที่นี่และทางทวิตเตอร์ที่นี่ ซึ่งโพสต์ทวิตเตอร์ได้ถูกแชร์กว่า 300 ครั้ง

รูปถ่ายขาวดำได้ถูกนำมาประกอบบทความเกี่ยวกับเกอเนอพิลในภาษามองโกเลียและไทย

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญพบภาพถ่ายดังกล่าว ถูกเผยแพร่อยู่ในคลังข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษ โดยเป็นชุดภาพถ่ายขาวดำ

ภาพถ่ายดังกล่าวถูกรวบรวมอยู่ในชุดภาพที่มีชื่อว่า “ภาพถ่ายขุนนางในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 [ค.ศ. 1910-1920]” พร้อมระบุว่าเป็นภาพถ่ายประเทศมองโกเลีย

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ:

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ

  

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับจากเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับจากเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ (ขวา)

Nicole Ioffredi เจ้าหน้าที่ประสานงานห้องพิมพ์ แผนกทัศนศิลป์ของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษกล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าผู้หญิงในภาพคือราชินีเกอเนอพิล

“ฉันได้ค้นในคาตาล็อกของเราและไม่พบภาพถ่ายใดๆ ในคลังข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติอังกฤษที่ยืนยันได้ว่าเป็นราชินีเกอเนอพิล” เธอกล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565

เกอเนอพิลไม่น่าจะสวมใส่เครื่องประดับศีรษะและทำผมเป็นทรง “เขา” อย่างที่ปรากฏในภาพ ศาสตราจารย์ Christopher Atwood อาจารย์ภาควิชาภาษาและอารยธรรมเอเชียตะวันออกที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและผู้เขียนสารานุกรมของมองโกเลียและจักรวรรดิมองโกล อธิบายกับ AFP

“ตั้งแต่ยบอจด์ข่านขึ้นดำรงตำแหน่งลามะ (นักบวชระดับสูง) เขาสามารถมีพระสนมได้ แต่ไม่สามารถแต่งงานได้ตามกฏหมาย ด้วยเหตุผลนี้พระสนมของเขาจึงไม่น่าจะสวมเครื่องประดับที่เป็นทรง “เขา” ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วเป็นเครื่องแบบของสตรีที่แต่งงานแล้วในยุคก่อนการปฏิวัติในประเทศมองโกเลีย” เขาบอกกับ AFP

Atwood อธิบายว่าเกอเนอพิลได้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งมองโกเลียไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม จนกระทั่งบอจ์ด ข่าน สวรรคตในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1924 หลังล้มป่วยในช่วงฤดูหนาวของปีก่อน

“จากความรู้ของผม ผมยังไม่เคยเห็นภาพถ่ายของเกอเนอพิล พระมเหสีคนสุดท้ายของบอจ์ด เลยแม้แต่รูปเดียว” เขากล่าวเพิ่มเติม

Otgonbayar Yondon อดีตเอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำสหรัฐฯ ผู้ซึ่งเป็นบุคคลที่ชื่นชอบเรื่องราวของประวัติศาสตร์ บอกกับ AFP เช่นกันว่าภาพดังกล่าวไม่น่าจะเป็นภาพราชินีเกอเนอพิล

“ผมเชื่อว่านี่ไม่ใช่ภาพของราชินีเกอเนอพิล” เขากล่าว “ภาพถ่ายนี้แสดงสตรีที่แต่งงานแล้ว สังเกตได้จากทรงผม กฏหมายระบุชัดว่าบอจ์ดไม่สามารถแต่งงานได้อย่างเป็นทางการ”

Yingbai Fu นักศึกษาระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS University of London) พูดเหมือนกันว่าไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ว่าสตรีในภาพถ่ายดังกล่าวคือเกอเนอพิล

“ฉันยังไม่เคยเห็นภาพถ่ายของเกอเนอพิลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ” เธอกล่าว

AFP ได้ตรวจสอบภาพถ่ายที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพราชินีเกอเนอพิล ไปแล้วก่อนหน้านี้ที่นี่

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา