กล้วยที่ฟาร์ม El Porvenir ในเมือง Puerto Inca ประเทศเอกวาดอร์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 ( AFP / MARCOS PIN)

โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ทางโภชนาการของกล้วย

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 25 เมษายน 2022 เวลา 09:02
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานกล้วยได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่าผลไม้ดังกล่าวสามารถ “รักษา” อาการท้องผูกและไมเกรน คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบอกกับ AFP ว่าโพสต์ดังกล่าวอ้างถึงสรรพคุณเรื่องการทานกล้วยที่เกินจริง

คำกล่าวอ้างนี้ ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565

คำบรรยายโพสต์แปลเป็นภาษาไทยว่า “ประโยชน์ต่าง ๆ ทางโภชนาการของกล้วย
แก้อาการท้องผูก ... ช่วยรักษาไมเกรน ... ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น ... ลดความอ้วนได้ดีขึ้น ... ช่วยลดความเครียด ... บำรุงสายตา คลายหิว”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด

โพสต์ดังกล่าวใช้ภาพกล้วยตากแห้ง ซึ่งเป็นอาหารทานเล่นยอดนิยมในประเทศไทย

คำกล่าวอ้างเกี่ยวกับประโยชน์ของการทานกล้วย ได้ถูกแชร์ออนไลน์ในโพสต์ภาษาไทยมาแล้วตั้งแต่ปี 2560 เช่นที่นี่ และถูกนำกลับมาแชร์ในเดือนเมษายน ปี 2565 ที่นี่และนี่

คำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันได้ถูกแชร์ในโพสต์ภาษาอังกฤษทางทวิตเตอร์ที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า คำกล่าวอ้างหลายข้อในโพสต์ดังกล่าวได้กล่าวถึงประโยชน์ต่อสุขภาพของกล้วยที่เกินจริง

คำกล่าวอ้าง: “กล้วยช่วยแก้อาการท้องผูก”

รศ.ดร.ขนิษฐา ธนานุวงศ์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันกับ AFP ว่า กล้วยจะสามารถช่วยแก้อาการท้องผูกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสุกของผลกล้วย

“คำกล่าวอ้างนี้เป็นความจริงบางส่วน แม้ว่ากล้วยจะสามารถบรรเทาอาการท้องผูกได้ แต่ไม่ได้เป็นผลไม้วิเศษที่สามารถใช้รักษาอาการท้องผูก ได้” เธอกล่าว “กล้วยมีส่วนไฟเบอร์ซึ่งช่วยในการระบายท้อง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสุกของกล้วยลูกนั้นด้วย”

“ถ้าเราทานกล้วยตอนที่สุกเต็มที่ รสชาติจะหวานมากๆ จะไม่มีส่วนช่วยในการระบายท้อง ถ้าเราทานตอนที่กล้วยห่าม ส่วนที่เป็นไฟเบอร์จะสูงและสามารถช่วยอาการท้องผูกได้”

วารีทิพย์ พึ่งพันธ์ นักโภชนาการจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย อธิบายกับ AFP ว่า “ถ้าจะทานเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องผูก คุณต้องทานกล้วยที่สุกกำลังพอดี”

คำกล่าวอ้าง: “กล้วยช่วยบรรเทาไมเกรน”

วารีทิพย์กล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างว่ากล้วยช่วยบรรเทาอาการไมเกรน”

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับนี้ในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2563 โดยระบุว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าว “เป็นเรื่องไม่จริง”

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “แชร์มั่ว กล้วยรักษาไมเกรน เป็นเรื่องไม่จริงเพราะกล้วยไม่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ในการรักษาไมเกรน ตามนี้เลย”

ขนิษฐากล่าวว่า “ไม่มีการศึกษายืนยันความเชื่อมโยงระหว่างกล้วยและไมเกรนที่ชัดเจน”

คำกล่าวอ้าง: “กล้วยช่วยลดความเครียดและช่วยให้นอนหลับสบาย”

วารีทิพย์กล่าวว่าไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงการรับประทานกล้วยเข้าและระดับความเครียด

“ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าการทานผลไม้ดังกล่าวจะช่วยในการผ่อนคลาย” วารีทิพย์กล่าว

ขนิษฐาอธิบายว่า “เราไม่สามารถฟันธงได้ว่ากล้วยจะช่วยให้เรานอนหลับสบายขึ้น หรือช่วยลดระดับความเครียดลง”

คำกล่าวอ้าง: “กล้วยบำรุงสายตา”

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายกับ AFP ว่าวิตามินเอ -ซึ่งพบได้ในเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้  มีสรรพคุณในการบำรุงสายตาและการมองเห็นจริง

อย่างไรก็ตาม กล้วยไม่ได้มีส่วนผสมของวิตามินเอที่สูงนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผลไม้สีสดอื่นๆ เช่นฟักทองและแครอท วารีทิพย์กล่าว

“กล้วยไม่ได้มีส่วนประกอบของวิตามินเอที่สูง ซึ่งจะดีกว่าถ้าบริโภคผลไม้ชนิดอื่นที่มีวิตามินเอที่สูงกว่า” ขนิษฐากล่าว

คำกล่าวอ้าง: “ช่วยลดความอ้วนได้ดี”

วารีทิพย์กล่าวว่าเราควรจะกินกล้วยในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรกินในปริมาณมากเกิน

“ต้องไม่ลืมว่ากล้วยมีระดับน้ำตาลที่สูง” เธอกล่าว “อย่างไรก็ตาม เวลาเราหิว เป็นเรื่องที่ดีกว่าแน่นอนที่จะทานกล้วยหนึ่งลูกดีกว่าช็อกโกแล็ตหนึ่งแท่ง”

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา