โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์แชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่าดวงจันทร์ “เคยถูกแยกออกเป็นสองซีก”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 09:20
  • อัพเดตแล้ว วันที่ 11 พฤษภาคม 2022 เวลา 09:25
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
  • เขียนโดย: AFP Thailand
ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์ของนาซาได้ถูกแชร์หลายพันครั้งในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างว่าภาพดังกล่าวพิสูจน์ว่าดวงจันทร์เคยถูกแยกออกเป็นสองซีก อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายนี้แสดง Rima Ariadaeus ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแนวรอยเลื่อนเหมือนกับที่พบได้บนโลก นาซาปฏิเสธคำกล่าวอ้างนี้ โดยระบุว่าไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าดวงจันทร์เคยถูกผ่าออกเป็นสองซีกหรือมากกว่า
     

ภาพถ่ายชุดหนึ่งได้ถูกโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 260 ครั้ง

ข้อความภาษาอังกฤษในภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า: “ปาฏิหาริย์ของศาสดามูฮัมหมัด แยกดวงจันทร์ออกเป็นสองส่วน”

ภาพหนึ่งที่ถูกแชร์ในโพสต์ดังกล่าวแสดงพื้นผิวของดวงจันทร์ โดยมีลูกศรชี้ไปที่จุดที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นรอยร้าวบนดวงจันทร์

ข้อความบนภาพแปลเป็นภาษาไทยว่า: “นี่คือจุดของการแยกตัวที่เป็นวงยาวล้อมรอบดวงจันทร์ทั้งดวง

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เขียนว่า “อัลลอฮฺได้ตรัสว่า:เมื่อวันกิยามะฮ์ใกล้มาถึงและดวงจันทร์ได้แยกออก ... (อัลเกาะมัรฺ:54 :1-2)”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด


ภาพที่สองในชุดภาพดังกล่าว แสดงนักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ นีลอาร์มสตรอง ไมเคิล คอลลินส์ และ เอ็ดวิน "บัซ" อัลดริน จูเนียร์ ลูกเรือของยานอพอลโล 11 ในภารกิจลงจอดและสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษยชาติ ในเดือนกรกฏาคม 2512

ภาพที่สามแสดงดวงจันทร์ครึ่งซีกสองด้าน ขณะที่ภาพสุดท้ายเป็นภาพพระจันทร์เต็มดวง

คำกล่าวอ้างดังกล่าว ซึ่งถูกแชร์ออนไลน์โดยผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวมุสลิมในหลายประเทศเช่น อินโดนีเซียและปากีสถานมาเป็นเวลาหลายปี อ้างอิงถึงการแสดงปาฏิหาริย์ของศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งถูกนำมาจากบทที่ 54 ย่อหน้าที่ 1 ของพระคัมภีร์อัลกุรอาน

ภาพถ่ายชุดเดียวกันได้ถูกแชร์ต่อมากกว่า 15,700 ครั้ง ภายหลังจากที่ภาพชุดดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางเพจศาสนาอิสลามบนเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ นี่และนี่

คำกล่าวอ้างดังกล่าว ยังคงถูกแชร์อย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน ปี 2565 ภาพถ่ายที่ถูกระบุว่าเป็น “เส้นแตกของดวงจันทร์” ที่ถูกถ่ายโดยอพอลโล 10 และอพอลโล 11

ภาพเดียวกันถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ในภาษาอินโดนีเซียทางเฟซบุ๊กและเป็นวิดีโอทางยูทูป ซึ่งมียอดรับชมกว่า 5.4 ล้านครั้ง

ภาพถ่ายรอยยาวบนดวงจันทร์ได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันในประเทศไทย ทางเฟซบุ๊กที่นี่และนี่ และบนบล็อกออนไลน์ที่นี่และนี่

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ

การค้นหาภาพย้อนหลัง พบว่าภาพถ่ายดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ตั้งแต่ปี 2545

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของภาพถ่ายต้นฉบับบนเว็บไซต์ของนาซา


นาซากล่าวว่าภาพดังกล่าว ถ่ายโดยลูกเรือของยานอพอลโล 10 ในเดือนพฤษภาคม ปี 2512 โดยเป็นภาพถ่ายที่แสดง Rima Ariadaeus ซึ่งเป็นร่องลึกบนดวงจันทร์

นาซาอธิบายว่า: “แนวยาวอย่าง Rima Ariadaeus ว่ากันว่าแนวร่องที่ก่อขึ้นจากกิจกรรมการแปรสัณฐาน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแนวร่องดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากการปะทะที่รุนแรง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เชื่อว่าแนวยาวบนพื้นผิวของดวงจันทร์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ดวงจันทร์ยังมีการปะทุของภูเขาไฟอยู่”

“ผู้เชี่ยวชาญเห็นพ้องกันว่า Rima Ariadaeus ซึ่งยาวประมาณ 300 กิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของระบบร่องลึก คล้ายกับที่พบบนโลก”

เว็บไซต์ของนาซาเผยแพร่ภาพถ่ายอื่นๆ ที่แสดง Rima Ariadaeus

ด้านล่างคือภาพถ่ายของนาซาที่แสดง Rima Ariadaeus จากอีกมุมหนึ่ง

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของเว็บไซต์นาซา ที่แสดงภาพถ่ายอีกรูปหนึ่งของ Rima Ariadaeus


“ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์”

นาซาได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างดังกล่าวที่นี่ ภายหลังจากที่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ถามถึงคำกล่าวอ้างดังกล่าวในปี 2553

Brad Bailey นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์ทางจันทรคติของนาซ่า “ณ ปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าดวงจันทร์เคยถูกผ่าออกเป็นสองส่วน (หรือมากกว่า) ในอดีต แล้วค่อยถูกประกอบเข้าด้วยกันใหม่”

ศาสตราจารย์ Paul Groot นักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Radboud ในประเทศเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “การ “แยกตัว” อย่างคำกล่าวอ้างในภาพด้านล่าง (ภาพที่ทำให้เข้าใจผิด) ปรากฏอยู่บนดวงจันทร์จริง แต่มันไม่ได้เกินรอบดวงจันทร์”

เขาอธิบายกับ AFP ทางอีเมลว่า “มันเป็นคุณสมบัติที่น่าจะเกี่ยวข้องกับแรงกระแทกที่ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตไทโค  ซึ่งสังเกตได้ทางส่วนด้านล่างขวาในภาพ”

ภาพถ่ายอื่นๆ ของดวงจันทร์

ภาพที่แสดงดวงจันทร์สองซีก ใช้ภาพถ่ายดวงจันทร์สองภาพที่ถูกนำมารวมกัน และถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของ Getty Images หน่วยงานภาพถ่าย

ภาพแรก ซึ่งเป็นส่วนซ้ายของภาพถ่ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด มีชื่อว่า “Last Quarter Moon” และแสดงดวงจันทร์ในช่วงสุดท้าย

ภาพที่สองมีชื่อว่า “Low Angle View Of Moon Against Clear Sky At Night Photo File”

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (กลาง) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ซ้ายและขวา):

Image
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายหน้าจอของภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (กลาง) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ซ้ายและขวา)

   


ภาพสุดท้ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นภาพพระจันทร์เต็มด้วย โดยเป็นภาพที่ถูกเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยทัฟส์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์

ภาพดังกล่าวเขียนเครดิตภาพว่าเป็นภาพถ่ายของหอดูดาวลิก (Lick Observatory) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ขวา):

Image
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายต้นฉบับ (ขวา)

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา