ภาพนี้แสดงอุณหภูมิพื้นผิวในประเทศอินเดียและปากีสถาน ไม่ใช่อุณหภูมิอากาศที่ใช้ในการรายงานสภาพอากาศ
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วัน 12 พฤษภาคม 2022 เวลา 09:00
- อัพเดตแล้ว วัน 12 พฤษภาคม 2022 เวลา 11:28
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
- เขียนโดย: Montira RUNGJIRAJITTRANON, AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2567 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว ซึ่งแสดงอนุทวีปอินเดียในสีแดงเข้ม ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 900 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “30 เมย.65 #อินเดีย#ปากีสถาน. อากาศร้อนจัด วันนี้อุณหภูมิจะสูงสุดถึง 143°F หรือ (62°C)”
โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไปในช่องทางออนไลน์ ภายหลังจากที่ผู้คนกว่าล้านคนเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุ จากคลื่นความร้อนที่อันตรายทั่วประเทศอินเดียและปากีสถานในเดือนเมษายน 2565 AFP รายงาน
ภาพถ่ายดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กันทางเฟซบุ๊กที่นี่ และทางทวิตเตอร์ในภาษาอังกฤษ สเปน และโปรตุเกส
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
ภาพดังกล่าวแสดงตัวเลขจากการวัดความร้อนของอุณหภูมิพื้นผิว (Land Surface Temperature) ซึ่งต่างจากอุณหภูมิอากาศที่ใช้อ้างอิงในรายงานสภาพอากาศรายวัน
ภาพถ่ายดาวเทียม
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพถ่ายดาวเทียมต้นฉบับถูกเผยแพร่ที่นี่ทางทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 โดยบัญชีของ ADAM platform แพลตฟอร์มข้อมูลสิ่งแวดล้อม
คำบรรยายของโพสต์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า: “#คลื่นความร้อน ระดับสุดขีดใน #ปากีสถาน และ #อินเดีย ที่สังเกตได้ในวันนี้ วันร้อนระอุสี่ติดต่อกัน โดย #Copernicus #Sentinel3 LST (อุณหภูมิพื้นผิว ไม่ใช่อุณหภูมิอากาศ!) LST ที่บันทึกได้ในวันที่ 29 เมษายน แสดงตัวเลขสูงสุดทะลุ 62 องศาเซลเซียส/143 องศาฟาเรนไฮต์ ความต่างจากเมฆ/หิมะ/ไม่มีข้อมูล #ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ”
The current extreme #heatwave in #Pakistan and #India as seen today, on the fourth intense hot day, by #Copernicus#Sentinel3 LST (Land Surface Temperature, not Air!). LST collected on April 29 shows max value exceeding 62°C/143°F. Gaps due to cloud/snow/nodata. #ClimateEmergencypic.twitter.com/0MCMkcSg0t
— ADAM Platform (@PlatformAdam) April 29, 2022
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า อุณหภูมิพื้นผิวต่างจากอุณหภูมิอากาศ ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้วัดที่ในรายงานสภาพอากาศรายวัน
“อุณหภูมิพื้นผิว หมายถึงอุณหภูมิที่แผ่ออกมาจากพื้นผิวซึ่งเป็นการวัดจากพื้นดิน ขณะที่อุณหภูมิของอากาศคืออุณหภูมิที่วัดจากอากาศเหนือพื้นดินราว 2 เมตรซึ่งนักวิทยาศาสตร์จะเรียกว่าอุณหภูมิอากาศใกล้พื้นผิว” Cascade Tuholske นักวิทยาศาสตร์การวิจัยจาก Columbia Climate School กล่าว
“แม้ว่าอุณหภูมิพื้นผิวจะสามารถใช้เป็นตัววัดผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนได้ แต่อุณหภูมิเป็นมาตรวัดที่สำคัญกว่ามากในการเข้าใจผลกระทบของความร้อนต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดังกล่าว” Tuholske อธิบายกับ AFP ในวันที่ 4 พฤษภาคม
Omar Baddour ผู้เชี่ยวชาญด้านแอปพลิเคชันข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) กล่าวว่าอุณหภูมิของอากาศเป็นมาตรวัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการให้ข้อมูลสำหรับคนทั่วไป เช่น การพยากรณ์อากาศ
“อุณหภูมิใกล้พื้นผิวมาตรฐานอุตุนิยมวิทยาหมายถึงอุณหภูมิของอากาศที่ถ่ายเหนือพื้นผิว 2 เมตร” Baddour กล่าวกับ AFP เมื่อวันที่ 4 พ.ค. “นี่เป็นอุณหภูมิที่กรมอุตุนิยมวิทยาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิสำหรับคนทั่วไป การใช้งานและการใช้งานภาคส่วนอื่นๆ”
Clare Nullis เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อของ WMO กล่าวว่า “อุณหภูมิอากาศที่วัดจากระดับห่างจากพื้นดินสองเมตร เป็นอุณหภูมิที่เราสัมผัสโดยทั่วไป (ถ้าเปรียบกับความสูงเฉลี่ยของคนที่มีความสูงปกติ) ซึ่งการวัดอุณหภูมิชนิดนี้ รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่นแรงลม ความชื้น ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียกว่าสภาพอากาศ”
รายงานสภาพอากาศในอินเดียและปากีสถาน
ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 AFP ไม่พบรายงานจากทั้งสองประเทศว่ามีการวัดอุณหภูมิได้เกิน 60 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด
กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) กล่าวว่าอุณหภูมิสูงสุดที่วัดได้ในเดือนเมษายน 2565 ในอินเดีย อยู่ที่ 47.4 องศาเซลเซียในวันที่ 29 และ 30 เมษายน ในเมือง Banda ในรัฐอุตตรประเทศ
“อุณหภูมิในประเทศอินเดียในช่วงฤดูร้อนนี้ ยังวัดได้ไม่สูงไปกว่า 48 องศาเซลเซียส” Mahesh Palawat รองประธานฝ่ายอุตุนิยมวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ Skymet Weather บริษัทพยากรณ์อากาศเอกชน ยืนยันกับ AFP
จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศปากีสถาน (PMD) เมืองจาโคบาบัด ในรัฐสินธ์ เป็นจุดที่วัดอุณหภูมิได้สูงที่สุดในประเทศในเดือนเมษายน 2565 โดยวัดอุณหภูมิได้ 49 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา