
โพสต์เฟซบุ๊กแชร์คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับประโยชน์ของกัญชา หลังประเทศไทยผ่อนคลายกฏหมายควบคุม
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เวลา 08:00
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 และถูกแชร์ต่อกว่าร้อยครั้ง
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “รู้ก่อนใช้ กัญชา ในการดูแลสุขภาพ”
“39 โรคร้าย หายได้เพียงทานวันละ 1-2 หยด ก่อนนอน ทั้งรักษา และป้องกัน”
โพสต์ดังกล่าวได้ระบุถึงโรคและอาการด้านสุขภาพจำนวนมากที่สามารถรักษาได้ด้วยกัญชา ซึ่งรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน มะเร็ง จิตเภท ซึมเศร้า อัมพาต สะเก็ดเงิน HIV และโรคอื่นๆ
สารสกัดกัญชามีผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยจะมีระดับความเข้มข้นของสารแคนนาบินอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่พบได้ในพืชกัญชาที่แตกต่างกันออกไป
สินค้าแปรรูปจากกัญชามีจำหน่ายทั้งเป็นอาหารผสมกัญชาหรือเป็นน้ำมันกัญชา ซึ่งใช้โดยการหยดใต้ลิ้น
สารเคมีตัวที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ tetrahydrocannabinol หรือ THC จะมีฤทธิ์กล่อมประสาท ขณะที่ cannabidiol หรือ CBD มีประสิทธิภาพที่ดีต่ออาการต่างๆ เช่นโรคนอนไม่หลับและอาการวิตกกังวล

โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ในประเทศไทย ภายหลังการผ่อนปรนกฏหมายควบคุมพืชกัญชาในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้สามารถปลูกและใช้พืชชนิดดังกล่าวได้ภายใต้กฏหมายใหม่
พืชกัญชาถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านมาเป็นเวลาหลายศตรวรรษในประเทศไทย แต่ถูกเปลี่ยนเป็นสิ่งผิดกฏหมายเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา
CBD เป็นสารสกัดที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการใช้ทางการแพทย์ แต่กฏหมายห้ามใช้สารสกัดกัญชาที่มีส่วนผสมของ THC เกิน 0.2% สำนักข่าว AFP รายงาน
อินโฟกราฟิกดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่ และนี่
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพยืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้เข้าใจผิด
“ข้อมูลไม่เพียงพอ”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าโรคและอาการที่ปรากฏอยู่ในคำกล่าวอ้างนี้ ส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถรักษาได้ด้วยสารสกัดของกัญชา
นพ.ธีระกล่าวว่าโรคที่สามารถใช้สาร CBD เป็นตัวเลือกในการรักษาได้ ได้แก่ ผู้ที่มีอาการจากผลข้างเคียงซึ่งเกิดจากการบำบัดเคมีของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยภาวะสมองพิการ (cerebral palsy) อาการปวดเรื้อรัง และช่วยบรรเทาอาการชักเกร็ง
“กัญชาไม่ใช่เป็นสารทดแทนตัวยารักษา แต่สามารถใช้เป็นยาตัวเลือกได้ในกรณีที่ไม่สามารถเข้าถึงยาตัวหลักได้” นพ.ธีระกล่าว โดยระบุว่าการศึกษาด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของกัญชาทางการแพทย์ยังมีข้อมูลอยู่ในวงที่จำกัด
อย่างไรก็ตาม อาการอื่นๆ เช่นโรคอัลไซเมอร์ เบาหวาน ซึมเศร้า และ HIV ที่ถูกกล่าวในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ยังไม่มีหลักฐานทางคลินิกว่าสามารถรักษาได้ด้วย CBD
เขาแนะนำให้ผู้ป่วยที่ประสงค์จะลองใช้ CBD เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้
ไม่ได้ใช้เพื่อรักษามะเร็งโดยตรง
พญ.ณิชา ซึงสนธิพร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2565 ว่าสารสกัดกัญชา ไม่สามารถนำมาใช้รักษามะเร็งโดยตรงได้
เธออธิบายว่า “กัญชาใช้เพื่อให้คนไข้ที่ได้รับยา/คีโม แล้วมีอาการคลื่นใส้ เพื่อประคับประคองอาการขณะรักษา”
“ไม่ใช่การใช้เพื่อรักษามะเร็งโดยตรง” เธอกล่าวโดยอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับการใช้กัญชาในการรักษามะเร็งว่า “ใช้เพื่อให้คนไข้ที่รับยาหรือทำคีโม แล้วมีอาการคลื่นไส้ โดยเป็นการประคับประคองอาการขณะรักษาเท่านั้น”
นพ.ธีระ กล่าวว่าการใช้ CBD เป็นประจำในแต่ละวัน สามารถนำไปสู่การเสพติดได้
”การใช้อย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ร่างกายเรามีทนสาร ซึ่งทำให้ต้องการใช้ในปริมาณโดสที่สูงขึ้น”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา