ภาพถ่ายนี้มาจากเทศกาลแกลสตันบิวรีในปี 2558 และ ปี 2559 ไม่ใช่ภายหลังเกรต้า ธันเบิร์ก ขึ้นพูดบนเวทีในปี 2565
หลังจากที่เกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศโลกปรากฏตัวที่เทศกาลแกลสตันบิวรีในประเทศอังกฤษในเดือนมิถุนายน ภาพถ่ายที่แสดงพื้นที่หน้าเวทีที่เต็มไปด้วยเศษขยะได้ถูกแชร์ออกไปทางสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพถ่ายภายหลังการกล่าวสุนทรพจน์ของเกรต้า ภาพถ่ายดังกล่าวถูกแชร์ในบริบทที่ทำให้เข้าใจผิด การตรวจสอบของ AFP พบว่าภาพถ่ายในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นภาพถ่ายจากเทศกาลแกลสตันบิวรีในปี 2558 และ ปี 2559
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 200 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “คุณเกรต้า ขวัญใจคนรุ่นใหม่อันโด่งดังขึ้นเวทีคอมเสิร์ตกลาสตันเบรี่ เพื่อเรียกร้องให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องของผู้ชม. และนี่คือสภาพหลังงานจบ”
เกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศโลกขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเทศกาลแกลสตันบิวรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 และได้รับการต้อนรับโดยผู้คนที่เดินทางมาร่วมเทศกาลอย่างอบอุ่น BBC รายงาน

การทิ้งขยะถือเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในเทศกาลดนตรีต่างๆ ทั่วโลก ด้านผู้จัดงานแกลสตันบิวรีได้แนะนำมาตรการต่างๆ เพื่อลดขยะ ซึ่งรวมถึงการห้ามใช้ขวดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง โดยสื่อได้รายงานว่ามีขยะถูกทิ้งไว้ที่งานดังกล่าวกว่า 2,000 ตัน ในปี 2565
ภาพถ่ายเดียวกันได้ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในภาษาอังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เยอรมัน บัลแกเรีย และไทย
ขณะเดียวกันมีภาพถ่ายคล้ายๆ กันที่ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันทางเฟซบุ๊กในประเทศไทยที่นี่ นี่และนี่

อย่างไรก็ตามภาพถ่ายดังกล่าวทำให้เข้าใจผิด
การค้นหาภาพย้อนหลังทาง Yandex และกูเกิล พบว่าภาพถ่ายที่แสดงเหตุการณ์หลังเทศกาลแกลสตันบิวรี เป็นภาพถ่ายจากปี 2558 และปี 2559
ภาพที่หนึ่ง
ภาพถ่ายดังกล่าวปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ของหนังสือพิมพ์ Daily Mail ของอังกฤษเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ภายหลังเทศกาลแกลสตันบิวรีในปี 2558
ภาพถ่ายดังกล่าวเขียนเครดิตว่าเป็นผลงานของช่างภาพ David Hedges จากสำนักข่าว SWNS ในสหราชอาณาจักร
Hedges ยืนยันกับ AFP ว่า ผมเป็นคนถ่ายภาพนี้ตั้งแต่ปี 2558 ผมไม่ได้ไปแกลสตันบิวรีในปีนั้นและไม่ได้ทำงานให้กับ SWNS แล้ว
SWNS ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเดียวกัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่โดย Daily Mail (ขวา):

ภาพที่สอง
การค้นหาภาพย้อนหลังและคำสำคัญทางกูเกิล พบภาพถ่ายอีกรูปที่ถูกแชร์ในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด ถูกเผยแพร่ในรายงานฉบับนี้ ของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ Evening Standard เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 โดยระบุเครดิตภาพว่าเป็นภาพถ่ายของ Ben Birchall
การค้นหาด้วยคำสำคัญจากเว็บไซต์ของ PA Images พบภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่ที่นี่ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559
คำบรรยายบนเว็บไซต์แปลเป็นภาษาไทยว่า: “ควันหลงเทศกาลแกลสตันบิวรีปี 2559 เศษขยะด้านหน้าเวทีปิรามิด หลังเทศกาลแกลสตันบิวรีที่ Worthy Farm ใน Somerset”
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างภาพในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด (ซ้าย) และภาพถ่ายที่ถูกเผยแพร่โดย Evening Standard (ขวา):
