ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่ารายการ “อาหารก่อมะเร็ง” ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 22 มิถุนายน 2022 เวลา 08:42
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
รายการของกินและส่วนประกอบอาหาร 8 ชนิด ได้ถูกแชร์ในโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นสารก่อมะเร็งทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพบอกกับ AFP ว่าอาหารในรายการดังกล่าวยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นสารก่อมะเร็ง

คำบรรยายบางส่วนของโพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 เขียนว่า: “ผงชูรสเป็นอันดับหนึ่งในการก่อมะเร็ง!”

โพสต์ดังกล่าวระบุด้วยว่าขณะนี้คนจีนกำลังเป็นโรคมะเร็งสูง พร้อมระบุรายการอาหารที่ทำให้ก่อมะเร็งซึ่งประกอบไปด้วย หมากฝรั่ง ตับหมู ผักดองและหัวไชเท้าแห้ง น้ำผลไม้บรรจุขวด ไข่เยี่ยวม้า เต้าหู้เหม็น และปาท่องโก๋

“เพื่อสุขภาพของคุณ ส่งต่อให้คนที่คุณห่วงใยมากที่สุด”

Image
ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิด


คำกล่าวอ้างเดียวกัน ได้ถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่และนี่ และได้ถูกแชร์ทางไลน์อย่างต่อเนื่อง

“แล้วปล่อยให้ทำมาขายทำไมแล้วก็มาแจ้งว่าอันตรายทีหลังเพื่ออะไรไม่เข้าใจ” ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งเขียน

ขณะที่อีกคนหนึ่งเขียนว่า “ที่เขาบอกมาของชอบคนไทยทั้งนั้นเลย”

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด

ไม่มีหลักฐานสนับสนุน

ข้อมูลบนเว็บไซต์ขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ระบุว่าผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ถือว่า “ปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั่วไป”

โดยเขียนอธิบายเพิ่มว่า “แม้ว่าคนจำนวนมากจะอ่อนไหวต่อผงชูรส ในรายงานของบุคคลกลุ่มดังกล่าวที่ได้รับผงชูรสหรือยาหลอก นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองดังกล่าวได้เสมอ”

พญ.ณัษฐา พิภพไชยาสิทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานโภชนศาสตร์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ บอกกับ AFP ว่า “ไม่มีอาหารชนิดไหนในรายการนี้ ที่ด้วยตัวมันเอง ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง”

อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวเพิ่มว่ามีอาหารบางชนิดในรายการดังกล่าวที่ควรจะรับประทานในปริมาณที่พอดี

“ผงชูรสก็สามารถระบุได้ว่าเป็นเกลือชนิดหนึ่ง เราจึงต้องระมัดระวังเรื่องการทานโซเดียม” เธอกล่าว “ไม่แนะนำให้ทานของทอดมากเกินไปนะคะ ขณะที่อาหารที่หมักก็อาจจะเพิ่มปริมาณความเค็มได้”

พญ.ณิชา ซึงสนธิพร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้ “ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน”

เธอเตือนด้วยว่าบุคคลที่มีความดันโลหิตสูงและปัญหาไต ควรระวังในการทานอาหารที่ใส่ผงชูรสมากเกินไป

ณิชากล่าวด้วยว่าผักดองอยู่ในรายการอาหารที่มีความเป็นไปได้ในการก่อมะเร็ง ในฐานข้อมูลของหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะทางด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลก

IARC ทำการประเมินน้ำหนักหลักฐานของสารก่อมะเร็งที่สรุปว่าสารหรืออาหารชนิดใดอาจก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ใช่ความน่าจะเป็นที่มะเร็งจะเกิดขึ้น

หน่วยงานดังกล่าววิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยหลายฉบับเกี่ยวกับอาหารเอเชียที่ใช้ผักดองและความเชื่อมโยงกับโรคมะเร็งชนิดต่างๆในปี 2536 และพบว่ามีหลักฐานที่ขัดแย้งกัน

รายงานดังกล่าวเขียนว่า: “มีหลักฐานที่จำกัดเกี่ยวกับระดับความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ จากผักดองที่ผ่านกระบวนการทำอาหารพื้นบ้านในทวีปเอเชีย”

ณ วันที่ 21 มิถุนายน 2565 อาหารชนิดอื่นๆ ในรายการดังกล่าวที่ถูกแชร์ออนไลน์ ยังไม่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลของ IARC

ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ของสื่อ MCOT ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2563

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา