
ผู้เชี่ยวชาญโต้ภาพอินโฟกราฟฟิกเปรียบเทียบ ประโยชน์ของกัญชา และ อันตรายของแอลกอฮอล์
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 06:45
- อัพเดตแล้ว วันที่ 12 กรกฎาคม 2022 เวลา 06:50
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพอินโฟกราฟฟิกนี้ได้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2565 โดยเขียนคำบรรยายว่า “ข้อเท็จจริงที่เราควรรู้”
ภาพอินโฟกราฟฟิกดังกล่าวเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างแอลกอฮอล์กับกัญชา
“แอลกอฮอล์: เสพติดง่ายกว่า กัญชา: เสพติดยาก”
“แอลกอฮอล์: ทำลายสุขภาพ กัญชา: รักษาสุขภาพ”
“แอลกอฮอล์: เหตุก่อมะเร็ง กัญชา: รักษามะเร็ง”
“แอลกอฮอล์: ผู้เสียชีวิต 400,000 คน/ปี กัญชา: ไม่เคยมีคนตาย”
“แอลกอฮอล์: เสียทรัพย์โดยเปล่าประโยชน์ กัญชา: คุ้มค่าราคาไม่แพง”
“แอลกอฮอล์: มีคนตายเพราะ Overdose รายวัน กัญชา: Overdose ไม่ทำให้เสียชีวิต”
“แอลกอฮอล์: ทำลายตัว สมอง เซลล์อื่นๆ กัญชา: ป้องกัน รักษา เสริมสร้างเซลล์”
“แอลกอฮอล์: เป็นพิษ กัญชา: เป็นตัวป้องกัน ซ่อมแซม รักษา”
“แอลกอฮอล์: แฮงค์ ปวดหัว ทรมาน กัญชา: หลับสบาย ยิ้มแย้ม คลายเครียด”
“แอลกอฮอล์: ต้นเหตุความรุนแรง ทะเลาะวิวาท กัญชา: อารมณ์ดี ยิ้มสงบ นอนหลับ”

ภาพอินโฟกราฟฟิกดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในไทย หลังจากมีการประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ ว่าพืชกัญชาจะถูกถอดออกจากรายการยาเสพติดผิดกฏหมาย
ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ในประเทศไทย ในขณะที่มีการผ่อนคลายกฏหมายควบคุมพืชกัญชาในเดือนมิถุนายน 2565 จากเดิมที่มีบทลงโทษที่เข้มงวด ปัจจุบันการปลูกและครอบครองพืชกัญชานั้นไม่ผิดกฏหมาย โดยผู้ปลูกต้องมีใบอนุญาตและผลิตภัณฑ์จากกัญชาต้องมีส่วนผสมของสาร THC ซึ่งมีฤิทธิ์ต่อประสาท ไม่เกิน 0.2%
ภาพอินโฟกราฟฟิกคล้ายๆ กัน ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเดียวกันทางเฟซบุ๊ก ที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่าข้อมูลในอินโฟกราฟฟิกดังกล่าวมีข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด โดยเลือกผลเสียของแอลกอฮอล์มาเปรียบเทียบกับผลในแง่บวกบางส่วนของกัญชา ซึ่งเหมือนกับการนำ “แพะกับแกะมาเปรียบเทียบกัน”
รศ.พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู กุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การใช้กัญชาต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่ออวัยวะภายใน เช่นปอดและสมอง”
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่าการใช้กัญชาอาจจะส่งผลต่อโครงสร้างสมองได้
“งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าการใช้กัญชาในระยะยาวจะส่งผลต่อสมองเราในส่วนของความจำและการเรียนรู้ได้ ” ธีระกล่าว
คำกล่าวอ้าง: กัญชา “เสพติดยากกว่า”
ข้อมูลบนเว็บไซต์สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute of Health) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติดที่ใช้กันมากที่สุดเป็นอันดับสามรองจากยาสูบและแอลกอฮอล์
ทั้งแอลกอฮอล์และสารประกอบทางเคมีที่พบในพืชกัญชานั้นเป็รสารเสพติดทั้งคู่ และไม่ควรถูกนำมาเปรียบเทียบโดยตรง ธีระกล่าว
“เวลาเรารับสารเข้าไป ร่างกายจะมีอาการทดทาน และส่งส่งผลให้ผู้ใช้ต้องรับโดสที่สูงขึ้นเพื่อให้เกิดผลเท่าเดิม” เขาอธิบาย
คำกล่าวอ้าง: กัญชา “รักษาสุขภาพ”
ธีระระบุว่าแพทย์แผนปัจจุบันยังใช้กัญชาใน “วงที่จำกัดมาก” และใช้เป็นยาทดแทนในการรักษาเท่านั้น
ในประเทศไทย สาร cannabidiol หรือ CBD ได้รับการอนุมัติให้ใช้สำหรับการแพทย์ แต่อดิศร์สุดาอธิบายว่าคำกล่าวอ้างว่ากัญชา “รักษาสุขภาพ” เป็นเรื่องเท็จ
“การบอกว่ากัญชาดีต่อสุขภาพนั้นไม่ถูกต้องค่ะ” เธอกล่าว
คำกล่าวอ้าง: กัญชา “รักษามะเร็ง”
AFP ได้ตรวจสอบคำกล่าวอ้างที่ระบุว่ากัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ได้ ที่นี่
พญ.ณิชา ซึงสนธิพร อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายกับ AFP ว่า สาร CBD ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการใช้ทางการแพทย์ ถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการข้างเคียงเช่นการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งขณะทำการรักษาแบบคีโม
อย่างไรก็ตามสาร CBD ในกัญชานั้น “ไม่ใช่การใช้เพื่อรักษามะเร็งโดยตรง” เธอกล่าว
อดิศร์สุดากล่าวว่า “ในประเทศไทย กัญชาทางการแพทย์ได้รับการอนุมัติสำหรับการใช้รักษาเด็กในสองกรณี เพื่อรักษาอาการชักรุนแรง และสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด”
คำกล่าวอ้าง: กัญชา “ไม่ทำให้เสียชีวิต”
แถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขของไทยเมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2565 เจ้าหน้าที่พบผู้ป่วยเกี่ยวกับกัญชาเก้าคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 21 ถึง 30 มิถุนายน 2565 หลังจากมีการผ่อนคลายกฏหมายควบคุมกัญชา
อดิศร์สุดาอธิบายว่าผลกระทบของการได้รับสารสกัดจากกัญชาเกินขนาด (overdose) จะมีผลที่แตกต่างกันออกไป แล้วแต่กรณี และสามารถมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้ในกรณีที่คนๆ นั้นมีอาการแพ้รุนแรง
“กัญชาทำให้ผู้ใช้เห็นภาพหลอนและมีอาการหวาดระแวง ขณะที่ในเคสที่หนักจริงๆ ผู้ใช้มีอาการกระวนกระวาย และทำร้ายผู้อื่นหรือตัวเอง”
ธีระกล่าวเช่นกันว่าคำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ พร้อมอ้างถึงรายงานในรัฐโอเรกอนของประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี 2558 ถึง 2560 ซึ่งได้บันทึกว่าชายวัย 70 หนึ่งคนเสียชีวิตหลังจากมีอาการปวดแน่นหน้าอกภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังสูดสารสกัด THC
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา