ตัวแทนนักลงทุนของธนาคารและลูกค้านั่งสังเกตกระดานอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงราคาดัชนีของตลาดทั่วโลกที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 ( AFP / Romeo GACAD)

โพสต์แชร์คำกล่าวอ้างเท็จว่า “ธนาคารโลกเตือนไทยเสี่ยงล้มละลาย”

  • บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
  • เผยแพร่ วันที่ 14 กรกฎาคม 2022 เวลา 11:00
  • ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
  • เขียนโดย: Pathom SANGWONGWANICH, AFP ประเทศไทย
คำกล่าวอ้างชุดหนึ่งได้ถูกแชร์ออกไปหลายร้อยครั้งทางเฟซบุ๊กในเดือนกรกฏาคม 2565 ว่าธนาคารโบกได้เตือนประเทศไทย่าเศรษฐกิจไทยกำลังจะเจ๊งทั้งระบบ คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ธนาคารโลกยืนยันกับ AFP ว่าองค์กรไม่ได้ออกคำเตือนถึงประเทศไทย และจากการเอกสารในเดือนมิถุนายนธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในระยะสามปีข้างหน้า ในขณะที่ภาคการบริโภคและการท่องเที่ยวฟื้นตัว นักเศรษฐศาสตร์อิสระกล่าวว่าขณะนี้เศรษฐกิจของไทยไม่ได้มีความเสี่ยงภาวะล้มละลาย แม้จะมีความท้าทายของอัตราเงินเฟ้อและหนี้สินที่สูง

คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กที่นี่ เมื่อวันที่ 7 กรกฏาคม 2565 และได้ถูกแชร์ต่ออีกมากกว่า 1,000 ครั้ง

คำบรรยายโพสต์เขียนว่า: “ช็อค!! ธนาคารโลกเตือนประเทศไทย เศรษฐกิจไทย กำลังเจ๊งทั้งระบบ”

Image
Screenshot of the misleading post, taken on July 12, 2022

คำกล่าวอ้างเดียวกันถูกแชร์ทางเฟซบุ๊กที่นี่ นี่ นี่และนี่

เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยถือได้ว่าสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุด นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2% ภายหลังจากที่ประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากการหดตัวถึง 6.1% ในปี 2563 AFP รายงาน

ธนาคารโลกยืนยันกับ AFP ว่าองค์กรไม่ได้ออกแถลงการณ์หรือเตือนไทยเกี่ยวกับการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจ

ขนิษฐา คงรักเกียรติยศ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร ธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “คำกล่าวอ้างที่แชร์กันในโพสต์สื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้เข้าใจผิด ไม่ได้มาจากธนาคารโลก”

จากรายงานของธนาคารโลกในเดือนมิถุนายน 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4.3% ในปี 2566 และ 3.9% ในปี 2567

โดยในปี 2565 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 2.9% จากการฟื้นตัวของการบริโภคของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

คาดเศรษฐกิจโต แม้มีความเสี่ยง

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่ได้ถึงขั้นล้มละลาย

“ไม่มีเค้าลางว่าจะเกิดการล้มละลายได้ในอนาคตอันใกล้ ความเสี่ยงมีแน่นอนครับ แต่ยังห่างไกลจากการล้มละลาย” เขาบอกกับ AFP

“การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ”

สมชัย กล่าวว่าแม้ว่าปัจจุบันจะมีความเสี่ยงอย่างเช่น หนี้สาธารณะ หนี้ครัวเรือน อัตราเงินเฟ้อ และค่าเงินบาท แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นต้องกังวลเรื่องเศรษฐกิจล้มละลาย

หนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60% จะค่อยๆ ลดลงเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว และธนาคารแห่งชาติมีมาตรการที่จะลดและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 13 ปี สมชัยกล่าว

“ในขณะที่ประเทศไทยกำลังออกจากวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว และยังมีปัจจัยที่บ่งชี้ว่าเราไม่ได้กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อเตลิดเปิดเปิงในประเทศไทย”

แม้ว่าหนี้ครัวเรือนมีความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นจนเอาไม่อยู่ ถ้าดอกเบี้ยและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่การคาดการณ์ในตอนนี้ไม่ได้ชี้ไปสู่ภาวะที่ “ควบคุมไม่ได้” สมชัยกล่าว

แนวโน้มมั่นคง

ในเดือนมิถุนายน 2565 ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ

หน่วยงานดังกล่าวคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 3.2% ซึ่งเกิดจากภาคการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น นโยบายสนับสนุน และการฟื้นตัวเล็กน้อยของภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติ

“การจัดอันดับของประเทศไทย มีผลมาจากความแข็งแกร่งด้านการเงินภายนอกที่ยั่งยืนของประเทศ และกรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง”

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ไทยมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 221,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารกลางของประเทศถือครองไว้เพื่อใช้สำรองหนี้สินและเป็นเงินทุนที่มีอิทธิพลต่อนโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ

พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?

ติดต่อเรา