
ภาพนี้ถ่ายในประเทศเวียดนามตั้งแต่ปี 2558 ไม่ใช่ภาพถ่ายจากเซ็นทรัลเวิลด์ในปี 2565
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 09:23
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP Thailand
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพถ่ายรูปหนึ่งได้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งในโพสต์ทางเฟซบุ๊ก พร้อมคำกล่าวอ้างว่าเป็นภาพคนเข้าแถวเพื่อซื้อพัดลมแอร์มินิลดราคาภายในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ในปี 2565 คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ ภาพถ่ายดังกล่าวมาจากเทศกาลลดราคาสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งที่เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ในปี 2558
ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ในเดือนกรกฎาคม 2565 และถูกแชร์ต่ออีกกว่า 800 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์บางส่วนเขียนว่า: “คนนับพันเข้าแถวซื้อพัดลมแอร์มินิญี่ปุ่นที่ Central World ในช่วงโปรฯ ลด 40%”
“มีขนาดกะทัดรัด แต่มีความสามารถในการทำความเย็นน่าทึ่งมากๆ เพียงเปิดไว้สัก 5 นาที ก็เย็นทั้งห้องขนาด 20 ตารางเมตรเลยค่ะ อุณหภูมิจะลดลง 6-8 องศาเซลเซียส”
“โปรอาจจะอยู่ได้ไม่นาน ทุกคนรีบซื้อ ก่อนของจะหมดนะค่ะ”

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพที่แสดงผู้คนจำนวนมากยืนต่อแถวยาวภายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง โดยภาพถ่ายอื่นๆ ในโพสต์เป็นภาพของสินค้าลดราคาตามที่กล่าวอ้างในโพสต์
ภาพถ่ายเดียวกันถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ที่นี่ นี่และนี่
อย่างไรก็ตาม ภาพนี้ถูกแชร์ในบริบทที่เป็นเท็จ
การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบภาพถ่ายเดียวกันถูกแชร์ในโพสต์นี้โดยบัญชีเฟซบุ๊กที่ได้รับการยืนยันของห้างสรรพสินค้า Crescent Mall ในนครโฮจิมินห์
นอกจากนี้ ภาพถ่ายเดียวกันถูกเผยแพร่ในบทความฉบับนี้ โดย Nguoi Lao Dong สื่อของทางการเวียดนาม เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2559 โดยเป็นบทความเกี่ยวกับกิจกรรมสิ้นค้าลดราคาของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว
บทความดังกล่าวเขียนพาดหัวที่แปลเป็นภาษาไทยว่า “ช็อปที่ Crescent Mall ได้ถึงเที่ยงคืน”

เนื้อหาบางส่วนของบทความดังกล่าวเขียนว่า: “ร้านค้ากว่า 100 แห่งในห้าง Crescent Mall จะเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโปรโมชั่น “Big sale until midnight” ในวันที่ 16 เมษายน เท่านั้น”
“กิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งสองครั้งก่อน “Big sale until midnight” ได้กลายเป็นกิจกรรมประจำปีที่เหล่านักช็อปตั้งหน้าตั้งตารอคอยมากที่สุด”
พิชญ์สินี อัศวดิเรกติกุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ยืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างที่ถูกแชร์ในโพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เข้าใจผิดเป็นข่าวปลอม
“จากในรูปนี้ไม่ใช่เซ็นทรัลเวิลด์ค่ะ จากโพสต์ที่ส่งมาเป็นการโฆษณาปลอมนะคะ” เธอกล่าว
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา