โพสต์ออนไลน์ในประเทศไทยแชร์คำแนะนำที่ทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับ “วิธีแยกงูพิษกับงูไม่มีพิษออกจากกัน”
- บทความนี้มีอายุมากกว่า 1 ปี
- เผยแพร่ วันที่ 22 กรกฎาคม 2022 เวลา 06:30
- ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
- เขียนโดย: AFP ประเทศไทย
สงวนลิขสิทธิ์ © AFP 2560-2568 การใช้เนื้อหาในลักษณะเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิก ข้อมูลเพิ่มเติม
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม 2565 และได้ถูกแชร์ต่ออีกกว่า 1,300 ครั้ง
คำบรรยายโพสต์ และข้อความที่ปรากฏอยู่ด้านบนของภาพอินโฟกราฟฟิกเขียนว่า: “วิธีแยกงูพิษกับงูไม่มีพิษออกจากกัน”
ทางด้านซ้ายของภาพที่ถูกแชร์ในโพสต์ มีข้อความสีแดงที่เขียนว่า “มีพิษ” อยู่เหนือหัวของงูชนิดหนึ่งที่มีหัวทรงสามเหลี่ยม
ขณะที่ด้านขวาของภาพ มีข้อความสีเขียวที่เขียนว่า “ไม่มีพิษ” อยู่เหนือหัวของงูอีกชนิดที่มีหัวทรงกลม
มีงูพิษหลายพันธุ์อาศัยอยู่ในระบบนิเวศของประเทศไทย เช่นงูเห่าและงูเขียวหางไหม้
แม้แต่สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ การพบงูในบ้านก็เกิดขึ้นได้บ่อย โดยเฉพาะในหน้าฝนที่งูมักจะหนีเข้ามาในบ้านของคน
อย่างไรก็ตาม สัตว์เลื่อยคลานเหล่านี้ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าที่กำจัด เนื่องจากงูสามารถช่วยควบคุมประชากรหนู ซึ่งหากปล่อยไว้จะเป็นภัยต่อพืชผลและอาหารของผู้คนได้ สำนักข่าว AFP รายงาน
ภาพอินโฟกราฟฟิกนี้ ถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างคล้ายๆ กัน ในโพสต์ทางทวิตเตอร์ที่นี่และนี่ และปรากฏอยู่ในบล็อกออนไลน์ภาษารัสเซียที่นี่
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านงูยืนยันกับ AFP ว่าคำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
น.สพ.ทักษะ เวสารัชชพงศ์ สัตวแพทย์ ประจำสวนงู สภากาชาดไทย ยืนยันกับ AFP ว่าคำแนะนำในภาพอินโฟกราฟฟิกดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้แยกงูพิษกับงูไม่มีพิษออกจากกันได้จริง
“คำแนะนำเรื่องวิธีแยกงูพิษโดยให้สังเกตจากหัวไม่สามารถใช้เพื่อการระบุว่างูดังกล่าวมีพิษหรือไม่นะครับ” เขากล่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคม 2565
น.สพ.ทักษะกล่าวว่าประเทศไทยมีงูมากกว่า 200 ชนิด และลักษณะของมันก็แตกต่างกันออกไปตามภูมิภาค
งูที่ไม่มีพิษหลายชนิดก็มีลักษณะคล้ายกับงูพิษอีกด้วย เขากล่าว
“ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็ดูที่งูเห่าครับ งูเห่าเป็นงูมีพิษซึ่งหัวของมันเป็นทรงกลม และพบได้ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ”
“งูเห่ามีพิษที่แรงมากครับ ถูกกัดแค่ทีเดียวก็อันตรายถึงชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษาทันที”
ศรานนท์ เจริญสุข ผู้จัดการอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการณ์ที่พิพิธภัณฑ์งู สยาม เซอร์เพนทาเรียม กล่าวเช่นกันว่าคำแนะนำในอินโฟกราฟฟิกดังกล่าวไม่สามารถใช้เพื่อสังเกตว่าเป็นงูชนิดที่มีพิษหรือไม่
“มีงูหลายชนิดในประเทศไทยที่ไม่เข้าข่ายการจัดกลุ่มนี้ และเป็นงูที่มีพิษถึงตายด้วย” เขาอธิบาย
“คือมันไม่ได้วิธีเฉพาะที่สามารถใช้แยกระหว่างงูมีพิษกับงูไม่มีพิษนะครับ”
ศรานนท์แนะนำให้จำลักษณะเฉพาะของงูชนิดที่พบได้บ่อยในที่อยู่อาศัยแทน
“อย่างงูเขียวหางไหม้ก็สังเกตุได้จากหางของมันซึ่งจะมีลายสีแดง ส่วนงูเห่าให้สังเกตที่แม่เบี้ยของมัน ซึ่งมันจะแผ่ออกมาก่อนฉกเหยื่อ”
ศรานนท์กล่าวว่า “งูทุกชนิดเป็นนักล่าครับ มันเป็นสัตว์กินเนื้อ และเพื่อการเอาตัวรอดนี้ แม้แต่งูที่ไม่มีพิษก็มีส่วนที่คล้ายกับงูพิษได้”
พบเนื้อหาที่คุณต้องการให้เอเอฟพีตรวจสอบ?
ติดต่อเรา